กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
วันที่ 20 มกราคม ๒๕60 กระทรวงวัฒนธรรม โดย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พร้อมใจจัดงาน "สถิตในดวงชีวันนิรันดร" สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณบรมครูศาสตร์ศิลป์แผ่นดินไทย เพื่อน้อมสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงเป็น "บรมครูทางด้านศิลปวัฒนธรรม" ทั้งด้านนาฏศิลป์ โขน-ละคร คีตศิลป์ ดนตรี และทัศนศิลป์ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการทะนุบำรุงและสร้างสรรค์ผลงานทางด้านดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ ตลอดจนทรงพระราชนิพนธ์ บทเพลงต่างๆ นับเป็น พระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย และศิลปินของชาติ อันหาที่สุดมิได้ ณ บริเวณหน้า พระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วังหน้า
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ทรงพระราชทานครอบประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน-ละคร พิธีครอบ และพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ให้กับศิลปินทางด้านนาฏศิลป์ โขน-ละคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา และเป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ ณ โรงเรียนนาฏศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในปัจจุบัน) ในโอกาสทรงพระราชนิพนธ์เพลงและการแสดงบัลเล่ต์ เรื่อง มโนห์รา เมื่อปี พ.ศ. 2506 ซึ่งเป็นพิธีที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับผู้เป็นศิลปิน กล่าวคือ พิธีไหว้ครู เป็นการแสดงคารวะกรรมต่อครูผู้ประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยาการให้ ส่วนพิธีครอบ หมายความว่า ผู้รับครอบได้เริ่มความเป็นศิลปินโดยสมบูรณ์ ส่วนพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์สูงสุด และศักดิ์สิทธิ์นั้น จะต้องมีพิธีมอบให้เฉพาะแก่ศิลปินที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมและได้เลือกสรรแล้วเท่านั้น
โดยกิจกรรมน้อมสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในครั้งนี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ได้เชิญศิลปินที่ได้รับพระราชทานครอบ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีไหว้ครูโขน-ละคร พิธีครอบ และพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ในครั้งนั้น อาทิ นายสมบัติ แก้วสุจริต นายจตุพร รัตนวราหะ นายสมศักดิ์ ทัดติ นายจุมพล โชติทัตต์ นายสุดจิตต์ พันธ์สังข์ มาร่วมรำ สาธุการ เพื่อแสดงถึงการสืบทอดความเป็นบรมครูทางด้านนาฏศิลป์ โขน-ละคร ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสชื่นชมและภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของชาติ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในงานดนตรีเพื่อศิลปะการละคร โดยโปรดเกล้าฯให้นำเพลงพระราชนิพนธ์ " แสงเดือน " บรรเลงประกอบลีลา การแสดงบัลเลต์ในงานพระราชกุศล ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร ทรงมีรับสั่งโปรดให้ คุณหญิงเจเมเวียส เลดปันญอน เดมอน ดาราบัลเลต์ ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกชาวฝรั่งเศส จัดแสดงบัลเลต์ เรื่อง มโนราห์ ขึ้น ทรงพระราชนิพนธ์เพลงชุด มโนราห์ ทรงผูกโครงเรื่องใหม่ให้กะทัดรัดเหมาะแก่การแสดงบัลเลต์ ทรงนำเพลงพระราชนิพนธ์มาเชื่อมกัน ทรงแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน และโปรดให้วงดนตรี " สุนทราภรณ์ " บรรเลง โดยทรงควบคุมการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง และพระราชทานนามของบทเพลงบัลเลต์นี้ว่า " กินรีสวีท " ซึ่งประกอบด้วย ๑. เพลงเริงวนารมย์ (Nature Waltz) ใช้เสียงฟลุตและพิณ บรรยายถึงฉากธรรมชาติอันสวยงามของป่าหิมพานต์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๑ ๒.เพลงพรานไพร(The Hunter) เป็นการบรรยายลักษณะของพรานป่า ด้วยเสียงเดี่ยวของดนตรีต่างๆ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๓ ๓. เพลงกินรี(Kinnary Waltz) เป็นการบรรยายลักษณะของกินรีที่อ่อนหวาน บริสุทธ์ สดใส และร่าเริง ด้วยเสียงไวโอลิน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๘ ๔.เพลงภิรมย์รัก (A Love Story) เป็นการบรรยายความรักระหว่างเจ้าชายกับกินรี เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๐ ๕.เพลงอาทิตย์อับแสง (Blue Day) เป็นการบรรยายความโศกเศร้าอาดูรของนางกินรีที่เจ้าชายต้องจากไปรบ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๗ โดยมีเรื่องย่อตามบทพระราชนิพนธ์ดังนี้ นางกินรีถูกนายพรานไพรจับตัวมาถวาย พระราชาพอพระทัยนางกินรี และนางกินรีก็รักเจ้าชาย เจ้าชายและนางกินรีรักและปรองดองกัน เจ้าชายจากไปรบ นางกินรีโศกเศร้า เจ้าชายเสด็จกลับนางกินรีมีความสุข เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีรับสั่ง คุณหญิงฯ เห็นว่าเนื้อเรื่องของนางมโนราห์คล้ายคลึงกับบัลเลต์สวอนเลก จึงจัดการแสดงบัลเลต์เรื่องมโนราห์ขึ้นถวาย โดยผสมผสานการเต้นบัลเลต์คลาสสิคกับนาฏยศิลป์ไทยขึ้น
"มโนราห์บัลเลต์" จึงนับเป็นบัลเลต์แบบไทยชุดแรกของโลก ที่ยกระดับศิลปะการแสดงของชาติไทยให้ก้าวไกลสู่สากล โดยมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงอำนวยการสร้าง ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อย่างที่สุดมิได้ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ที่ทรงเสด็จมาเป็นประธานประกอบพระราชพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ ณ โรงเรียนนาฏศิลป (สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในปัจจุบัน) ในโอกาสทรงพระราชนิพนธ์เพลงและการแสดงบัลเล่ต์ เรื่องมโนห์รา เมื่อปี พ.ศ. 2506 ในการนี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จึงจัดการแสดง "บัลเลต์ เรื่อง มโนราห์" ที่หาชมได้ยาก เพื่อเป็นการแสดงความสำนึก ในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ดังกล่าวขึ้นด้วย อีกหนึ่งพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานบทพระราชนิพนธ์ประกอบการแสดงชุด "รำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้" กับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นการรำที่สร้างสรรค์ท่ารำขึ้นใหม่ โดย บรมครูด้านนาฏศิลป์ เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยใช้นักแสดง นักดนตรี นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินอาวุโส และศิษย์เก่าจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และหน่วยงานในสังกัด เป็นจำนวนกว่า 99 คน และได้น้อมนำพระบรมราโชวาทพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปวัฒนธรรม ของพระองค์มาจัดแสดงเป็นกิจกรรม เพื่อน้อมสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ดังนี้
• การวาดภาพและประติมากรรมรูปปั้นลอยตัว พระอัจฉริยภาพด้านบรมครูศาสตร์ศิลป์แผ่นดินไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
• ร่วมร้องเพลงหมู่ เพลงสรรเสริญพระบารมี
• การอ่านทำนองเสนาะ ประกอบ การรำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ โดย บรมครูด้านนาฏศิลป์ และศิษย์เก่า บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
• รำสาธุการ โดย บรมครูด้าน โขน-ละคร ที่ได้รับพระราชทานครอบ จากพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
• การแสดงโขน โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
• การแสดงบัลเล่ต์ เรื่อง มโนราห์ บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช
• คอนเสิร์ตวงดนตรีสากล โดย นักเรียน นักศึกษา และศิษย์เก่า จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์