กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
โอกาสครบรอบ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้จัดงาน "Flagship for Innovative Wisdom" เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ใหม่ๆ แก่คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ พร้อมกระตุ้นให้เกิดการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาด้านธุรกิจ สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดย รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ซีอีโอแห่งโออิชิ กรุ๊ป และนายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ด้านทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นกล่าวเปิดงานในหัวข้อ "อนาคตและทิศทางการศึกษาด้านธุรกิจ" กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาคการศึกษา และภาคธุรกิจในการกำหนดแนวทางการผลิตบัณฑิตป้อนสู่ตลาดแรงงาน
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งในด้านสังคม และเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ สถาบันการศึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานเบื้องต้น ในการผลิตบุคลากรอันเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในการนำพาประเทศก้าวต่อไปข้างหน้า จึงต้องพลิกโฉมครั้งใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยร่วมมือจากภาคธุรกิจ ในการร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะความรู้ ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคดิจิทัล
การจัดการศึกษาจะต้องเป็นแบบ Co-Creation คือทั้งภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาต้องเข้ามาช่วยกันวิเคราะห์ และคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดการศึกษา สร้างบัณฑิตให้มีทักษะความรู้รองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาคณะบัญชีจุฬาฯ เองได้จับมือกับภาคเอกชน เปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนของเราในหลายเรื่อง ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักศึกษาเจเนอเรชั่น Z เช่น โครงการ Mentoring จัดให้รุ่นพี่เข้ามาแนะนำนักศึกษารุ่นน้อง ทั้งเรื่องการงาน และการใช้ชีวิต, โครงการ E-learning หลักสูตรการศึกษาออนไลน์ เพื่อเปิดกว้างการเรียนรู้สู่คนทุกระดับ ไม่ว่าใครก็เข้าถึงการศึกษาได้หากมีความสนใจ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับภาคเอกชนหลายหน่วยงาน จัดให้นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้ประสบการณ์จริง ในการทำงานภายในองค์กรธุรกิจตลอดช่วงการศึกษา 4 ปี ไม่ใช่แค่การฝึกงานช่วงใกล้จบปีการศึกษาเหมือนแต่ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เด็กสามารถนำเอาความรู้จากประสบการณ์จริงมาใช้ในการพัฒนาตัวเอง"
ทางด้าน นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ซีอีโอใหญ่แห่งโออิชิ กรุ๊ป กล่าวว่า "คนเจเนอเรชั่น Z จะคุ้นเคยกับพฤติกรรมการหาข้อมูลความรู้จากอินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุนี้การเรียนรู้ในห้องเรียนต้องปรับรูปแบบใหม่ สถาบันการศึกษาต้องปรับบทบาทจากแหล่งองค์ความรู้ เป็นองค์กรสนับสนุนการเรียนรู้ ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้นำเอาองค์ความรู้มาฝึกฝนใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงานของเด็กรุ่นใหม่
การเรียนการสอนต้องปรับรูปแบบเป็นการโค้ชชิ่ง โดยการฝึกฝนให้เด็กมีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่มีความสำคัญต่อการเติบโตในอนาคต ซึ่งปัจจุบันโลกก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการแบ่งปัน ใครมีความรู้อะไรก็เอามาแชร์กันบนโลกออนไลน์ ยิ่งให้ก็ยิ่งได้มาก คือได้สังคมเพื่อนที่มีมุมมองความคิดไปในทิศทางเดียวกัน และพร้อมให้ความช่วยเหลือกัน ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการทำงานยุคสมัยนี้ นอกจากนี้การทำงานในโลกธุรกิจยุคดิจิทัลจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา พร้อมเปิดรับความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาตัวเอง เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานที่ต้องการความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา"
นายวรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ด้านทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้ปัจจุบันการแข่งขันขององค์กรธุรกิจ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่คู่แข่งธุรกิจเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับเครื่องมือใหม่ๆ ที่เทคโนโลยีสร้างขึ้นมา เช่น แอพพลิเคชั่นทางการเงินบนมือถือ ซึ่งเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด สิ่งเหล่านี้ทำให้ความต้องการบุคลากรขององค์กรธุรกิจเปลี่ยนไป
เด็กเจเนอเรชั่น Z มีโอกาสและช่องทางการเรียนรู้อยู่รอบตัว ขณะที่บริบทสังคมในยุคดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา องค์ความรู้ในห้องเรียนจึงอาจไม่สำคัญเท่ากับการฝึกฝนให้เด็กมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และสามารถนำเอาความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์กับการใช้ชีวิต และการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในการคิดวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยุคดิจิทัล การเติบโตในภาคธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยเด็กที่มีความโดดเด่นใน 3 เรื่องตามลำดับความสำคัญที่เรียกว่า ASK คือ Attitude เด็กที่มีทัศนคติที่ดี จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมงาน และถ้ามีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ, Skill มีทั้งหมด 10 ทักษะสำคัญที่เด็กต้องมี อาทิ สามารถคิดนอกกรอบ ทำงานได้หลากหลายวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เป็นต้น สุดท้ายคือ Knowledge ความรู้ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดให้มีความเหมาะสมต่อการนำมาใช้งานกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง"
ทั้งนี้ งาน "Flagship for Innovative Wisdom" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2560 ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ ทุกสาขาการศึกษาด้านธุรกิจ กว่า 500 คน