กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--35 Bangkok
ดร. ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการและอนุกลั่นกรองของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้เปิดเผยถึงการติดตามประเมินผลงานโครงการของ กทปส. ที่ได้สนับสนุนทุนวิจัยและอนุมัติโครงการวิจัยต่างๆ รวม 43 โครงการ นับตั้งแต่ปี 2556 มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติเงินทุนจำนวน 10 โครงการ รวมวงเงิน 32.53 ล้านบาท และในปี 2557 มีโครงการผ่านการอนุมัติจำนวน 33 โครงการ รวมวงเงิน 155.709 ล้านบาท นับได้ว่าโครงการส่วนใหญ่มากกว่า 70% สามารถดำเนินงานได้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วยดี
ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "จากการติดตามโครงการที่ผ่านมา พบว่ามีหลายโครงการที่เกิดขึ้นจากทีมนักวิจัยที่มีความคิดสร้างสรรค์และคิดค้นพัฒนาผลงานขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมไทย ดังนั้น ในฐานะคณะกรรมการ กทปส. มองว่าควรจะสานต่อและนำมาพัฒนาต่อยอดในระดับประเทศ ยกตัวอย่างเช่น โครงการของนักวิจัยทีมหนึ่งที่ออกแบบพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยตรวจสอบและป้องกันแอปพลิเคชั่นที่ไม่ดี ซึ่งเหมาะกับคนที่ชอบโหลดแอปพลิเคชั่นต่างๆ ลงบนมือถือ แต่ไม่ทราบว่าแอปฯ นั้นอาจจะแอบแฝงมาเพื่อแฮกข้อมูลความลับส่วนตัวในมือถือก็เป็นไปได้ ซึ่งโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์นี้อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น และอีกผลงานที่เข้าตาคณะกรรมการ คือ โครงการระบบบ้านอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุ ที่ออกแบบพัฒนาแอปพลิเคชั่น Homekit เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ และผู้พิการที่อยู่บ้านตามลำพัง โดยได้พัฒนาโปรแกรมพร้อมฐานข้อมูลสำหรับเฝ้าระวัง แจ้งเตือนกรณีที่ผู้สูงอายุล้ม และมีการตรวจสัญญาณชีพแบบ Heart Attack รวมไปถึงการเตือนเมื่อลืมปิดน้ำ ไฟหรือแก๊ส เป็นต้น"
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้โครงการต่างๆ ของนักวิจัยไทยให้เป็นที่ยอมรับและประจักษ์ต่อสาธารณชนนั้น แน่นอนว่านอกเหนือจากทีมนักวิจัยที่จะต้องเอาจริงเอาจัง มีความฝันที่อยากให้ผลงานวิจัยนำไปสู่การใช้งานจริงแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องตระหนักและเห็นถึงคุณค่าและมุ่งส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อยอดโครงการนักวิจัยไทยที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติ สานต่อโครงการจนเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมที่จะส่งเสริมการบังคับให้ใช้ผลิตภัณฑ์คนไทยหรือชิ้นงานที่เกิดขึ้นจากทีมนักวิจัยไทยผ่านบัญชีสิ่งประดิษฐ์ และบัญชีนวัตกรรมไทย เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีกระบวนการส่งเสริมในลักษณะดังกล่าว ซึ่งภายหลังต่อมาคนในประเทศก็เกิดความภาคภูมิใจในแบรนด์ประเทศของตน
จากการติดตามประเมินผล พบว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่สามารถปรับปรุงเพื่อให้ กทปส. มีส่วนในการผลักดันผลงานวิจัยให้เกิดการใช้งานจริงและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1. ทีมวิจัยที่ส่งโครงการเข้ามาเพื่อขอรับเงินทุนวิจัย ควรจะต้องศึกษาและนำเสนอโครงการที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ กทปส. เนื่องจากเกิดปัญหาโครงการซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ ในประเด็นนี้การสื่อสารระหว่างกองทุนกับทีมผู้วิจัยก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยลดปัญหานี้ลงได้และช่วยให้ทีมวิจัยเข้าใจถึงความคาดหวังที่จะให้ดำเนินโครงการได้ชัดเจนมากขึ้น 2. กองทุนควรมีแผนและเป้าหมายในเชิงผลลัพธ์ที่จะมีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่หัวข้อโครงการที่กองทุนต้องการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม และ 3. การนำเสนอโครงการ มักจะถูกกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ เช่น มองว่ามีจำนวนผู้เข้าอบรมตรงตามที่กำหนดหรือไม่ หรือมองที่ตัวเลขงบประมาณ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกฝ่ายควรจะมองตัวชี้วัดในเชิงคุณภาพมากกว่า เช่น ติดตามว่าคนที่เข้าร่วมอบรมมีความรู้ความเข้าใจและนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์หรือไม่ หรือโครงการวิจัยต่างๆ ได้นำมาต่อยอดให้กับประชาชนและทำให้สังคมไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากสามารถปรับเปลี่ยนในทิศทางนี้ได้ ประเทศไทยก็จะมีผลงานที่ได้จากโครงการวิจัยที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นและเข้าถึงความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง
ดร. ศรัณย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "มองในอีกมุมหนึ่งก็นับว่าโชคดีที่ประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนเรื่องทุนวิจัยและพัฒนาให้แก่นักวิจัยไทย จึงอยากแนะนำนักวิจัยให้ทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแต่ละหน่วยงานว่าต้องการเห็นประเทศชาติพัฒนาโครงการวิจัยเรื่องอะไร จากนั้นหากนักวิจัยอยู่ในช่วงคิดค้นสิ่งใหม่ๆ หรือกำลังเริ่มต้นโครงการ ก็แนะนำให้ลองนำเสนอโครงการไปยังหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสำหรับกองทุน กทปส. นั้น มองว่าเหมาะกับโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาต่อยอดก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง เนื่องด้วยกองทุน กทปส. เปรียบเสมือนหน่วยงานระดับประเทศที่ให้เม็ดเงินสนับสนุนที่ค่อนข้างสูงจึงอยากให้โครงการที่นำเสนอและผ่านการอนุมัติของ กทปส.นั้น เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์และนำมาพัฒนาในระดับประเทศชาติได้อย่างแท้จริง รวมถึงคุ้มค่ากับเงินทุนวิจัยและพัฒนาที่ กทปส. ได้จัดสรรให้โครงการนั้นๆ"