กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ภาพรวมอุทกภัยภาคใต้คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส นายกรัฐมนตรีห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ สั่งการ บกปภ.ช. ประสานจังหวัดเร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายของบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยของประชาชนโดยละเอียด โดยพื้นที่ที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับการเยียวยาเป็นลำดับแรก สำหรับด้านสาธารณูปโภคที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากงบประมาณไม่เพียงพอ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดสรรงบประมาณจากวงเงินทดรองราชการ เพื่อซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว รวมถึงนำเสนอแผนงานและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ด้านการเกษตร ให้จ่ายเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์ หากเสียหายโดยสิ้นเชิงให้ส่งเสริมอาชีพตามความเหมาะสม
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) 14 ส่วนงานเข้าร่วมประชุมฯ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมคลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 35 อำเภอ 200 ตำบล 1,113 หมู่บ้าน ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 23 - 25 มกราคม 2560 จะมีฝนหนักถึงหนักมากใน 6 จังหวัด พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 3 เมตร บกปภ.ช. จึงได้กำชับจังหวัดดังกล่าวเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ชาวเรือควรระมัดระวังการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2560
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช. เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการให้ บกปภ.ช. ประสานจังหวัดเร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายของบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยของประชาชนโดยละเอียด พร้อมระบุพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยปฏิบัติวางแผนให้การช่วยเหลือบ้านเรือนประชาชนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งในเบื้องต้นให้ตรวจสอบข้อมูลความเสียหายเชิงพื้นที่ พร้อมจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วน โดยบ้านเรือนที่จะได้รับการเยียวยาเป็นลำดับแรกต้องเป็นที่ดินในที่ของเอกชน ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ และเขตหวงห้าม รวมถึงไม่อยู่ในพื้นที่บุกรุก หรือสร้างรุกล้ำลำน้ำ กรณีตรวจสอบพบว่าเป็นบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงกลยุทธ์ โดยใช้หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ควบคู่กันไป สำหรับบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายทั้งหลัง จำนวน 219 หลัง รัฐบาลได้มีแนวคิดในการนำแบบแปลนบ้านของกรมโยธาธิการและผังเมืองมาเป็นทางเลือกให้ผู้ประสบภัยเลือกใช้ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ วงเงินงบประมาณ และความจำเป็นในการใช้งาน ในขณะที่บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายบางส่วน จำนวน 5,273 หลัง แยกเป็น เสียหายเล็กน้อย (โครงสร้างเสียหายต่ำกว่าร้อยละ 30) เสียหายมาก (โครงสร้างเสียหายร้อยละ 30 - 70) ให้พิจารณาว่าจะซ่อมแซม ตามสภาพเดิมหรือสร้างใหม่ ทั้งนี้ การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของหน่วยทหาร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักประกอบกำลังสนับสนุนกับอาชีวศึกษา เครือข่ายช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเจ้าของบ้าน ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและซ่อมแซมบ้าน สำหรับด้านสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า ประปา ถนน ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากงบประมาณไม่เพียงพอ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดสรรงบประมาณจากวงเงินทดรองราชการ เพื่อซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว รวมถึงพิจารณาข้อมูลในภาพรวม เพื่อนำเสนอแผนงานและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาระยะยาว อาทิ การทำท่อลอด การยกระดับพื้นผิวจราจร สำหรับเป็นข้อมูลเชิงนโยบายในการลดผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ด้านการเกษตร อาทิ พืชไร่ พืชสวน ประมงปศุสัตว์ ให้จ่ายเงินเยียวยาแก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด หากพื้นที่การเกษตรเสียหายโดยสิ้นเชิงและต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ส่งเสริมการจ้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้มีรายได้ในช่วงที่ไม่มีผลผลิตทางการเกษตร ส่วนด้านชลประทานที่เป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งระบบ ให้เชื่อมโยงแผนงานการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอยต่อของจังหวัด ด้านการแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือ โดยเฉพาะข้าวสารของกระทรวงพาณิชย์ ให้จังหวัดกำหนดจุดจัดเก็บและพื้นที่เป้าหมายในการแจกจ่ายข้าวสารให้ชัดเจนและทั่วถึง นอกจากนี้ ให้จังหวัดสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ โดยแยกเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่วิกฤต และพื้นที่ฟื้นฟู เพื่อรวบรวมให้ บกปภ.ช.นำเสนอนายกรัฐมนตรี พิจารณาสั่งการแก้ไขปัญหาในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ในวันพุธ ที่ 25 มกราคม 2560