กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--สวทช.
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดบรรยายพิเศษเรื่อง "Thinking Power ขุมพลังทางความคิดจากสาธารณรัฐเกาหลี" เพื่อนำเสนอการสร้างกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ที่นำไปสู่การจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ สร้างผลงาน คิดค้นนวัตกรรม รวมถึงการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Lee Chung Koog (นายลีชุงกุ), Vice Chairman of the organizing committee for World Mathematical Olympiad วิทยากรผู้มีชื่อเสียงจากการทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนาระบบความคิด จากสาธารณรัฐเกาหลี เป็นวิทยากรแนะนำแก่ครูแกนนำผู้สอนสะเต็มศึกษา และบุคลากร สวทช. กว่า 100 คน เพื่อต่อยอดสู่การเรียนการสอนให้กับนักเรียนของคณะครูและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างสร้างสรรค์ต่อไป
Mr. Lee Chung Koog กล่าวว่า " 25 ปีที่แล้วกับ 25 ปีข้างหน้าในอนาคต ย่อมมีความคิดสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างกันไป ข้อมูลจาก UN Future Report 2040 พบว่า แนวโน้มในอีก 25 ปีข้างหน้า ความคิดสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์จะมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหลายส่วน ได้แก่ Android Robot หุ่นยนต์ที่สามารถตอบโต้สื่อสารกับมนุษย์ได้ / Electronic Paper การบันทึกข้อมูลแทนกระดาษ / Moon Exploration Center การสำรวจบนดวงจันทร์ที่ก้าวไกลถึงขนาดมีห้องพักนอกในอวกาศ และ New Paradigm School โรงเรียนเด็กแนวคิดใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาต่างไปจากเดิม"
ในการแลกเปลี่ยนความรู้ครั้งนี้ Mr. Lee Chung Koog ได้ให้ความสำคัญกับ New Paradigm School หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาให้เป็นแบบใหม่เป็นพิเศษ ด้วยเชื่อว่า ถ้าอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นเท่าใด เด็กที่กำลังอยู่ในวัยเรียน ยิ่งควรได้รับการปรับตัว และหล่อหลอมด้านการศึกษาให้เป็นระบบใหม่ให้ทันความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามไปด้วย รวมทั้งในอนาคต เด็กนักเรียนจะสามารถประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าคนรุ่นหลัง โดยไม่ต้องมีระดับชั้นการศึกษาหรืออายุ มาจำกัดในเรื่องการประสบความสำเร็จ ทั้งอาชีพหรือการเงินอีกต่อไป เนื่องจากเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทพัฒนาศักยภาพมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการจดจำความรู้ได้เท่าห้องสมุด 10 ห้อง ด้วย TeleBright ในอนาคต และที่สำคัญด้วยวิสัยทัศน์ในด้านความคิดที่ต่างออกไป รู้จักคิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์ และรู้จักนำความรู้จากแขนงต่างๆ มาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน นั่นคือ วิสัยทัศน์ที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้โดยแท้จริง
นอกจากนี้ เขายังได้แนะนำเทคนิควิธีคิดนอกกรอบให้สร้างสรรค์อย่างง่ายๆ หรือ Thinknology โดยให้เริ่มต้นจากการช่างสังเกต เพราะทุกความรู้ ทุกประสบการณ์ จะได้จากการมอง (Watching) ก่อน อย่าเพิ่งรีบหยิบปากกากระดาษมาขีดๆ เขียนๆ ต้องหัดออกจากอุปนิสัยเดิมๆ ที่ขวางการคิดนอกกรอบของเรา ตัวต่อไปคือ จินตภาพ (Imagery) พยายามแปลงสิ่งที่ได้จากการสังเกตและคิดออกมาเป็นภาพให้ได้ ซึ่งการจินตนาการให้ออกมาเป็นภาพ จะทำให้เราเกิดการมองมุมต่างออกไป (Shift of Viewpoint) เป็นการเปลี่ยนมุมมองจากสิ่งที่เราคุ้นเคยหรือประสบการณ์ที่เราเคยมี ทำให้มองสิ่งต่างๆ ได้กว้างมากขึ้น ฉะนั้น เมื่อเผชิญกับโจทย์ที่ยาก ให้ลองวาดภาพและดึงโครงออกมา จากนั้นเราจะเกิดการหยั่งรู้ (Insight) ได้ด้วยตัวเอง นับเป็นการสร้างจินตนาการด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดของเราไปสู่การคิดแบบลู่ออก (Divergent Thinking) นั่นเอง
โดยเขาทิ้งท้ายไว้ว่า ในการเรียนการสอนสำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กในวัยอนุบาล ควรส่งเสริมการพัฒนาในเรื่อง Soft Skill มากกว่าการสอนเนื้อหาตามตารางที่อัดแน่น เพราะการสอนให้มากเข้าไว้ไม่ใช่สิ่งสำคัญ สิ่งสำคัญคือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กแสดงออกมามากกว่า โดยครูมีหน้าที่แนะนำแนวทาง (Guide) ให้ถูกทาง รวมทั้งขณะที่ทำกิจกรรม อย่าไปทำลายความใคร่อยากรู้ของเด็ก เพราะหลายกิจกรรมครูหรือพ่อแม่ผู้ปกครองย่อมรู้คำตอบอยู่แล้ว ไม่ต้องเร่งรัดหาคำตอบจากเด็ก ค่อยๆ ให้เขาหาคำตอบ ให้เวลาเขา เมื่อทำให้เด็กชอบและสนุกกับสิ่งนั้นๆ ได้ เด็กๆ จะเกิดการเรียนรู้ได้เองในที่สุด เป็นการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษาต่อไป
จากนั้น ภาคบ่าย คณะครูแกนนำผู้สอนสะเต็มศึกษา และบุคลากร สวทช. ร่วมฝึกอบรมและปฏิบัติการ ในหลักสูตร CRESTIVE STEAM Workshop: Automota โดยมี Mr. Richard Joon Chong (นายริชาร์ด จองชุก), CMS Edu Co., Ltd. จากสาธารณรัฐเกาหลี เป็นวิทยากรอบรม โดยกิจกรรมเน้นการนำทักษะ STEAM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปะ และคณิตศาสตร์) มาใช้ในกระบวนการคิด ออกแบบ และตอบคำถาม ซึ่งเขากล่าวว่า "เหตุที่ต้องมีการสอน STEM ให้กับเด็ก เพราะเป้าหมายปลายทางคือ ต้องการให้เด็กเกิดการคิดที่สร้างสรรค์ (Creation) สิ่งสำคัญที่จะไปยังจุดนั้นได้ คือ การคิด (Thinking) ฉะนั้น การจะไปยังเป้าหมายได้ ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนควรยึดหลักใน 4Cs ต่อไปนี้ คือ Collaboration > Communication > Critical Thinking และ Creatively จุดเริ่มจากการที่ทุกคนมาร่วมมือกัน สื่อสารกัน ช่วยกันคิดวิเคราะห์ จนเกิดตกตะกอนเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เฉียบแหลมออกมา"
ในขั้นตอนนี้ วิทยากรให้ผู้เข้าอบรมได้ซึมซับแนวคิดในการเรียนรู้กระบวนการคิดดังกล่าวผ่านกิจกรรมกลุ่ม ที่ให้สมาชิกทุกคนทำการสร้างหุ่นยนต์จำลองการเชื่อมต่อ (Linkage) เพื่อให้เห็นการเคลื่อนไหว แต่ละกลุ่มสมาชิกที่มารวมตัวกัน มีการพูดคุยกัน วางแผนคิดวิธีการทำออกมา จนเกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์ นอกจากนี้ กิจกรรม Linkage ยังช่วยในเรื่องจินตนาการ เพราะผู้เล่นต้องนึกตามไปว่า การเปลี่ยนแปลงตัวเชื่อมต่อหนึ่งจะส่งผลกับส่วนอื่นๆ ให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางอย่างไร นับเป็นการเปิดจินตนาการด้วยการให้ออกแบบหุ่นยนต์ตามแบบฉบับที่ต้องการในแต่ละกลุ่ม เพื่อตอบโจทย์แก้ไขปัญหา อีกทั้งยังสามารถต่อยอดสู่การเรียนการสอนให้กับนักเรียนของคณะครูและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างสร้างสรรค์ต่อไป