กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบเอกสารนำเสนอพระธาตุพนมเข้าสู่รายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ไปยังศูนย์มรดกโลกของยูเนสโก ภายใต้ชื่อ PHRA THAT PHANOM,ITS RELATED HISTORIC BUILDING AND ASSOCIATED LANDSCAPE และเห็นชอบให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานลงนามหนังสือถึงศูนย์มรดกโลกในการเสนอพระธาตุพนมเข้าสู่รายชื่อเบื้องต้น ตามมติของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา
นายวีระ กล่าวต่อว่า การดำเนินการพระธาตุพนมเข้าสู่รายชื่อเบื้องต้นนั้น ทางจังหวัดนครพนม ได้เสนอเอกสารให้คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งมีตน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบและได้นำเสนอคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบและมีมติให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอให้ ครม. เห็นชอบเพื่อดำเนินการขั้นตอนต่อไป ซึ่งในเบื้องต้นทราบว่าแนวทางหลังจากนี้ต้องจัดทำเอกสารเพื่อเสนอขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อเบื้องต้นไปยังศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส ฝรั่งเศส เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 41 ในเดือนกรกฎาคม 2560 ณ เมืองคราเคา (Krakow) สาธารณรัฐโปแลนด์
นายวีระ กล่าวว่า สำหรับพระธาตุพนม ตั้งอยู่บริเวณวัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขงมีระยะห่าง 600 เมตร ตามความเชื่อพื้นถิ่นเชื่อว่าพระธาตุสร้าง โดยพระมหากัสสปะ พระอัครสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อประดิษฐาน พระอุรังคธาตุ(กระดูกส่วนหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังจากปรินิพพานแล้ว 8 ปี โดยเป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ซึ่งพระธาตุได้รับการบูรณะและสักการบูชาจากประชาชนหลากหลายเชื้อชาติและภูมิภาคต่างๆ มาตลอดระยะหลายพันปี จึงถือว่าเป็นศาสนสถานที่มีคุณค่าโดดเด่น เป็นสากลมีคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกใน 3 เกณฑ์ ได้แก่ เกณฑ์ที่ 1 เป็นตัวแทนที่แสดงถึงผลงานชิ้นเอกที่ทำขึ้นด้วยอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ เกณฑ์ที่ 2 เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมอนุสรณ์สถาน ประติมากรรม ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องหรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และเกณฑ์ที่ 6 มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่มีความสำคัญหรือความโดดเด่นในประวัติศาสตร์