กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--กทม.
นายธีระชัย เธียรสรรชัย รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กทม.เปิดเผยว่า นับแต่กรุงเทพมหานครและองค์กรต่างๆร่วมกันรณรงค์ในเทศกาลลอยกระทง เชิญชวนให้ประชาชนใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ปรากฏว่าสถิติการใช้กระทงโฟม ลดลง กล่าวคือ จากปี 2534 - 2542 มีกระทงโฟม 20 %, 25.5 % , 8.6 %, 4.2 %, 3.8 % , 2.8 % , 2.4 % ,1.6 % และ 1.4 % ตามลำดับ สำหรับปี 2543 ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้แนวคิดว่ากระทงที่ใช้โฟมเป็นแผ่นรองให้ลอยน้ำได้ช่วยให้เก็บง่ายและไม่ทำให้น้ำเน่าเสีย โดยเฉพาะในแหล่งน้ำปิดเช่นในบึง ในสระ ประกอบกับมีกลุ่มบริษัทรีไซเคิลได้เสนอตัวเข้ามารองรับโฟมจากกระทงไปรีไซเคิล การใช้กระทงโฟมเมื่อปีที่แล้วจึงเพิ่มเป็น 18.6 % หรือ 159,311 ใบ จากจำนวนกระทงทั้งหมด 856,587 ใบ
นายธีระชัย กล่าวต่อไปว่า เทศกาลลอยกระทงปีนี้มีประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครมาร่วมงานลอยกระทงน้อยลง ซึ่งสาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากฝนที่ตกลงมาในช่วงหัวค่ำ ทำให้งานลอยกระทงชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำฝนและไม่คึกคักเหมือนเช่นทุกปี จำนวนกระทงที่เก็บได้ทั้งสิ้นจึงมีเพียง 689,525 ใบ น้อยกว่าปีที่แล้ว 167,062 ใบ และพบว่ามีกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ จำนวน 561,213 ใบ คิดเป็น 81.4 % ส่วนกระทงที่ทำจากโฟม มีจำนวน 128,312 ใบ คิดเป็น 18.6 % ทั้งนี้เฉพาะใน สวนสาธารณะ 13 แห่ง เก็บกระทงได้ทั้งสิ้น 73,900 ใบ เป็นกระทงที่ใช้วัสดุธรรมชาติ 42,000 ใบ คิดเป็น 57 % และกระทงใช้โฟม 31,900 ใบ คิดเป็น 43% เป็นที่น่าสังเกตว่าสถิติการใช้กระทงโฟมคิดเป็นร้อยละได้เท่ากับปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าประชาชนได้เลือกใช้กระทงทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นหลัก และขณะเดียวกันก็เลือกใช้กระทงที่ทำจากโฟมให้เหมาะสมกับแหล่งน้ำที่จะใช้ลอย เพื่อช่วยให้เก็บขยะกระทงง่ายขึ้นและไม่ทำให้แหล่งน้ำต่าง ๆ เน่าเสีย รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กล่าวในที่สุด--จบ--
-นห-