กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์มุ่งพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น ด้วยการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม ซึ่งปัจจุบันมีฟาร์ม 10,000 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับการรองฯ โดยกรมปศุสัตว์ได้ควบคุมและติดตามการใช้ยาสัตว์ในฟาร์มเหล่านี้อย่างเข้มงวดทั้งเรื่องวิธีการใช้ คุณภาพของยาสัตว์ และตรวจสอบการตกค้างของยาทั้งก่อนและหลังการเชือดชำแหละ ดังนั้นผู้บริโภคควรเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ที่มาจากฟาร์มมาตรฐานฯ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะและสารตกค้างแน่นอน
ขณะเดียวกันได้เร่งปราบปรามฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ลักลอบใช้ยาเถื่อน-ใช้เกินขนาด ตลอดจนผู้ประกอบการนำเข้า ผลิต หรือขายผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารสัตว์และยารักษาสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ที่เป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือสินค้าเลียนแบบที่ส่งผลเสียด้านสุขภาพต่อสัตว์โดยตรง ซึ่งผิดกฎหมายตามมาตรา 12 แห่ง พรบ.ยา พศ.2510 ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมาตรา72(4) ขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"ที่ผ่านมาชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการลักลอบผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์และยาสัตว์เถื่อนอย่างต่อเนื่อง ขอเตือนผู้ลักลอบให้หยุดการกระทำดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค และขอแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากฟาร์มมาตรฐานกรมฯ ที่มั่นใจในความปลอดภัยได้ 100%" น.สพ.อภัย กล่าว
กรมปศุสัตว์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินแนวทางการควบคุมยาสัตว์ในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ และกำหนดแผนยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560–2564 เพื่อป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา และกำกับดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์อย่างเหมาะสม โดยกรมปศุสัตว์เดินหน้าควบคุมยาสัตว์ด้วย 6 แนวทาง คือ กำหนดนโยบายและพัฒนาแนวทางปฏิบัติเพื่อลดการใช้ยาต้านจุลชีพในปศุสัตว์เพื่อการบริโภค, การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามการใช้ยาต้านจุลชีพ, การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ, การกำกับดูแลด้านกฎหายในการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์, พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการดำเนินงานแก้ปัญหา และศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง
"แผนยุทธศาสตร์เรื่องเชื้อดื้อยามีเป้าหมายที่จะลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลง 50% มีปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ลดลง 20% ปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลดลง 30% ประชาชนมีความรอบรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและมีความสามารถในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม ในระดับดีมากเพิ่มขึ้น 20% และระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลไม่ต่ำกว่าระดับ4" น.สพ.อภัย กล่าว
จากการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนและดำเนินการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการมุ่งเน้นสร้างระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์ม ส่งผลให้การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาและนโยบายของประเทศในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างเป็นระบบ และแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมกันแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพกับนานาประเทศทั่วโลก ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวของโลก (One World, One Health) ทั้งสุขภาพมนุษย์ สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อม
น.สพ.อภัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ ทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเกษตรกรรายย่อย ได้ให้ความร่วมมือในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต โดยเฉพาะการผลักดันจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย มาตรฐานปศุสัตว OK ที่ดำเนินการแล้วถึงกว่า 2,700 ร้าน
ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ ยังร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ FAO Regional Office for Asia and the Pacific (FAO-RAP) ในการประชุมโครงการ The Enhancing National Capacities for Antimicrobial Resistance Risk Management in Animal Food Production in Thailand เพื่อเสริมสร้างความสามารถของกรมปศุสัตว์ในการเฝ้าระวังปัญหาการดื้อยา และการใช้ยาต้านจุลชีพ รวมถึงการจัดการความเสี่ยงเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในปศุสัตว์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล