กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--ซูม พีอาร์
ปีนี้พี่น้องชาวใต้ถือว่าเจอศึกหนักตั้งแต่ต้นปีทีเดียว จากอุทกภัยต้อนรับปีไก่ทองหลายระรอก น้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหายและหนักสุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ลงไปจนถึงพัทลุง และยะลา สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวใต้ทั่วทุกหย่อมหญ้า เรียกว่าแทบจะทั่วทั้งด้ามขวานของไทยก็ว่าได้ ซึ่งน่าเห็นใจมากเพราะผู้ประสบภัยเกือบทุกคนต้องเดือดร้อนอย่างหนักหนาสาหัส จากการขาดแคลนสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอาหารการกิน รวมถึงทรัพย์สินมีค่าต่างๆ บางส่วนต้องอันตรธานสูญหายไปกับสายน้ำอย่างยากจะที่ทำใจ สัตว์เลี้ยงก็ไม่เว้นที่จะถูกผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งกระแสน้ำพัดพา ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก ใครที่พอมีกำลังจะส่งสิ่งของเครื่องใช้ไปช่วยเหลือผ่านตามช่องทางต่างๆ ก็จะดีไม่น้อย
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคใต้นี้ก็กินระยะเวลามาพอสมควร บางพื้นที่ก็ค่อยๆ คลี่คลายลงไปบ้างแล้ว การดูแลแก้ปัญหาหลังน้ำท่วมก็จัดว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และไม่ควรมองข้ามอีกเรื่องคือ พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ไม้ผล ในกรณีที่ยังไม่หนักหนาจนเหลือบ่ากว่าแรงที่จะแก้ไขก็ควรที่จะต้องรีบดำเนินการ เช่น พื้นที่สวนยาง สวนปาล์ม ไม้ผลไม้ยืนต้นต่างๆ ที่มีน้ำท่วมขังไม่มาก ควรหาจุดที่ต่ำที่สุดในพื้นที่แล้วทำการขุดเป็นสระเพื่อให้น้ำไหลไปรวมอยู่ในจุดเดียว หรือทำคันล้อมแล้ววิดระบายน้ำออกให้ได้โดยเร็ว หรือในกรณีที่ระดับน้ำเริ่มเบาบางแล้ว แต่ถ้าน้ำยังขังเยอะอยู่วิธีการนี้ก็จะใช้ไม่ได้ผล
ในส่วนของพื้นที่ที่เริ่มคลี่คลายแล้ว ต้องระมัดระวังอย่ารีบร้อนเข้าไปเหยียบย่ำซ้ำเติมพื้นที่รอบโคนต้นเพราะรากขาดอากาศหายใจมาเป็นระยะเวลานาน ย่อมอ่อนแอ บอบช้ำ ถ้าเรารีบเข้าไปบริหารจัดการ นำคนและเครื่องจักรเข้าไปดูแลแก้ปัญหาในทันที อาจจะทำให้พืชยิ่งได้รับความบอบช้ำมากยิ่งขึ้น จากดินที่ยังเหลวเละ อาจจะส่งผลทำให้รากฉีดขาดแตกหัก จนทำให้ต้นพืชล้มตายเสียหายอย่างไม่ควรจะเป็น เมื่อดินเริ่มแห้งเริ่มหมาดก็อาจจะโรยด้วยปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกบางๆใต้ทรงพุ่ม เพื่อให้รากฟื้นตัว จะได้ใช้สารอาหารจากปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกไปทีละน้อย หากใส่ปุ๋ยเคมีทันทีอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองกับระบบราก ซึ่งเรื่องนี้ควรค่อยๆทำในภายหลังจะดีกว่า ส่วนพืชที่ต้นไม่สูงมากนัก การฉีดพ่นให้ปุ๋ยหรืออาหารเสริมทางใบก็จะช่วยทำให้พืชฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเช่นเดียวกัน
ฝากพี่น้องเกษตรกรลองนำไปปรับใช้ โดยเฉพาะผู้ที่ปลูกยางพารา ที่ซึ่งตอนนี้ราคาก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงกิโลกรัมละ 70 บาทแล้ว เผื่อว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ นำไปดูแลแก้ปัญหาในสวนยาง ให้กลับมามีผลผลิตเพื่อออกจำหน่ายได้เงินมาบรรเทาค่าใช้จ่าย และเลี้ยงครอบครัวได้โดยเร็ว
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ 02 986 1680 -2
สนับสนุนบทความโดย นายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)