กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย
กลุ่มทีพีไอ โพลีน เปิดอาณาจักรธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งของ 'บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์' หรือ 'TPIPP' ในจังหวัดสระบุรี ที่กำลังเดินหน้าเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาส 1 ของปีนี้ เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทางธุรกิจและการเงินของกลุ่มทีพีไอ โพลีน ด้านผู้บริหารระบุปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 4 โรง และอยู่ระหว่างลงทุนขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 3 โรง คาดว่าจะแล้วเสร็จทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ หรือ COD (Commercial Operation Date) ภายในปีนี้ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มขึ้นจาก 150 MW ในปัจจุบัน เป็น 440 MW
นายประเสริฐ อิทธิเมฆินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายบัญชีและการเงิน ของ TPIPL ในฐานะบริษัทแม่ของ TPIPP เปิดเผยว่า TPIPL วางแผนนำ TPIPP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยเน้นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด อาทิเช่น พลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ พลังงานความร้อนทิ้ง ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ในไตรมาส 1 ของปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจของกลุ่ม แบ่งแยกธุรกิจโรงไฟฟ้าจากบริษัทแม่ให้ชัดเจน และเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยลดภาระหนี้สินของกลุ่มทีพีไอ โพลีน อีกทั้ง TPIPP จะสามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนและตลาดเงิน ส่งผลให้มีช่องทางการระดมทุนเพิ่มขึ้น ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง และเพิ่มศักยภาพในการขยายธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ยังสามารถสะท้อนมูลค่ากิจการที่แท้จริงของ TPIPP ซึ่งถือหุ้นโดย TPIPL ด้วย เนื่องจากราคาหุ้นของ TPIPP จะมีราคาตลาดอ้างอิงที่ชัดเจน
ด้านนายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงิน TPIPP กล่าวว่า ปัจจุบันTPIPP มีโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่เดียวกันกับโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ใน จ. สระบุรี ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 4 โรง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 150 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 3 โรง ซึ่งคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จ และเริ่ม COD ภายในปีนี้ โดยจะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มขึ้นอีก 290 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ กำลังการผลิตติดตั้ง 70 MW โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน-พลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ กำลังการผลิตติดตั้ง 70 MW และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน กำลังการผลิตติดตั้ง 150 MW ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะส่งผลให้ TPIPP มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นเพิ่มขึ้นเป็น 440 MW
ในส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ กำลังการผลิตติดตั้ง 70 MW มีความคืบหน้าตามแผนงานที่วางไว้โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ TPIPP จะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปรวมกับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งกำลังการผลิต 30 MW เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 90 MW โดย TPIPP จะได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7 ปี
ส่วนโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้น เมื่อแล้วเสร็จจะจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ TPIPL ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดียวกับที่ TPIPL ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายโรงงาน TPIPP กล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้าทั้ง 4 โรงในปัจจุบัน มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 150 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ 2 โรง กำลังการผลิตติดตั้ง 20 MW และ 60 MW ซึ่งตามข้อมูลของ AWR Lloyd ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยปัจจุบันมี กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจำนวน 73 MW (ได้รับ Adder ที่ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7 ปี) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งอีก 2 โรง กำลังการผลิตติดตั้ง 40 MW และ 30 MW โดยมี TPIPL เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า (ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ TPIPL ซื้อไฟฟ้าจาก กฟภ.)
ในส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน-พลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ กำลังการผลิตติดตั้ง 70 MW ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถูกออกแบบให้มีความพิเศษ เพราะสามารถใช้ได้ทั้งถ่านหิน และเชื้อเพลิงจากขยะ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยกรณีที่โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะโรงอื่นๆ จำเป็นต้องหยุดซ่อมบำรุง ก็สามารถใช้โรงไฟฟ้าดังกล่าวผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะเพื่อจำหน่ายให้แก่ กฟผ. ทดแทนกันได้
"เราได้เตรียมความพร้อมรองรับความต้องการใช้เชื้อเพลิงจากขยะที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากที่โรงไฟฟ้าแห่งใหม่เริ่ม COD แล้ว โดยบริษัทฯ ได้ลงทุนขยายสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับขยะจากชุมชน และขยะหลุมฝังกลบ เข้าสู่กระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ตันต่อวัน จากเดิม 4,000 ตันต่อวัน ซึ่งจะทำให้ TPIPP สามารถนำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ตันต่อวัน จากเดิม 2,000 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นการเพิ่มความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงจากขยะที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
ด้วยแนวคิด Clean Energy and Clean Up Country กลุ่มทีพีไอโพลีนจึงเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้ผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานขยะรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (WTE : Waste to Energy) ทั้งนี้เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในประเทศที่เกิดขึ้นจำนวนมากในแต่ละวัน และยังสามารถลดภาวะเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม" นายวรวิทย์ กล่าว