กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ( วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๐ และวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐ ) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้พิจารณารายงานการตรวจสอบของ สตง. จำนวน ๕ เรื่อง พบการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๔ เรื่อง และการเบิกจ่ายเงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ จำนวน ๑ เรื่อง ดังนี้
๑. การจ่ายเงินอุดหนุนของ อบจ.สงขลา
สตจ.สงขลา ได้ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของ อบจ.สงขลา ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ และ ๒๕๕๙ โดย อบจ.สงขลา ได้จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการกีฬาให้แก่สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา จำนวน ๒๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท และจำนวน ๒๒,๗๐๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ พบว่า
เงินอุดหนุนที่เบิกจ่ายในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ เป็นค่าใช่จ่ายในการสนับสนุนกีฬาแห่งชาติประจำปี ๒๕๕๘ เป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งยังไม่ได้มีการถ่ายโอนหรือมอบอำนาจให้ท้องถิ่นดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ประกอบหนังสือ ด่วนมาก ที่ มท ๐๘๐๘.๒/ว ๗๔ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๓ ส่วนในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ที่เบิกจ่ายในการสนับสนุนกีฬาแห่งชาติประจำปี๒๕๕๙ ไม่ใช่การส่งเสริมกีฬาที่อยู่ในขอบเขตการถ่ายโอนภารกิจของการกีฬาแห่งประเทศไทยฯ ที่ถ่ายโอนภารกิจงานส่งเสริมกีฬาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามมาตรการส่งเสริมกีฬาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลาเบิกจ่ายเงินอุดหนุนที่ได้รับมา เพื่อนำไปสนับสนุนต่อให้กับหน่วยงาน องค์กร หรือชมรมต่างๆ ที่ขอรับการสนับสนุนมายังสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา เป็นการไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงในการรับเงินอุดหนุนของสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การตั้งงบประมาณสนับสนุนที่ต้องตั้งจากงบประมาณรายได้ของหน่วยที่จะสนับสนุน โดยหน่วยงานที่จะสนับสนุนต้องมีเงินงบประมาณของตนเองเพียงพอที่จะสนับสนุน
เงินอุดหนุนที่มีการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ และ ๒๕๕๙ เป็นค่าใช้จ่ายในการไปศึกษาดูงานของสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา ไม่ใช่การส่งเสริมกีฬาที่อยู่ในขอบเขตการถ่ายโอนภารกิจฯ ตามมาตรการส่งเสริมกีฬาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทั้งยังไม่เป็นกิจกรรมที่เป็นภาพรวมที่มุ่งต่อประโยชน์ของท้องถิ่นหรือประชาชนเป็นส่วนรวมตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๙ เป็นหน้าที่ของสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลาและคณะกรรมการกีฬาจังหวัดสงขลา ที่จะต้องของบประมาณสนับสนุนเพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านกีฬา ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทยฯ
นอกจากนี้ การจ่ายเงินอุดหนุนปีงบประมาณ ๒๕๕๘ จำนวน ๒๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา ยังไม่ปรากฏเงินรายรับรายจ่ายที่สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลาได้รับอุดหนุนและดอกเบี้ยเงินฝากในงบรายรับ-รายจ่ายของสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ปรากฏเฉพาะรายรับรายจ่ายจากเงินอุดหนุนที่ได้รับจากสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา จำนวน ๕๒๖,๕๐๐ บาท และไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินอุดหนุนที่ได้รับจาก อบจ.สงขลา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ และ ๒๕๕๙ จำนวน ๑๑,๒๗๙,๘๗๔.๗๖ บาท ให้ สตจ.สงขลา ตรวจสอบ ทั้งนี้จากการตรวจสอบของ สตจ.สงขลา พบว่าในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ น้องชายของนายก อบจ.สงขลา ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา ต่อมา
ในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ นายก อบจ.สงขลา ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลาแทน การได้รับเงินอุดหนุนจาก อบจ.สงขลา ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ และ ๒๕๕๙ ดังกล่าว ถือเป็นจุดอ่อนของระบบการควบคุมภายใน เนื่องจากอาจเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์
คตง. พิจารณาแล้วมีมติให้แจ้ง อบจ.สงขลา ดำเนินการเรียกคืนเงินจากผู้ที่เกี่ยวข้องส่งคืนคลัง อบจ.สงขลา กรณีสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลาไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินอุดหนุนให้ตรวจสอบ ให้ อบจ.สงขลา ดำเนินการเรียกเงินจากสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลานำส่งคืนคลัง อบจ.สงขลา และหากพบว่าเป็นการทุจริตให้ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมทั้งแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
๒. การตรวจสอบงบการเงินงวดปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ของ อบจ.แพร่
สตจ.แพร่ ได้ตรวจสอบงบการเงินงวดปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ของ อบจ.แพร่ พบว่า เจ้าหน้าที่ได้เบิกจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษแก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบและหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ส่งผลให้ราชการเสียหาย จำนวน ๒๒,๔๖๒,๕๕๘ บาท คตง. พิจารณาแล้วมีมติให้ สตจ.แพร่ เร่งดำเนินการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
๓. การตรวจสอบงบการเงินงวดปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ของ อบจ.ปทุมธานี
สตจ.ปทุมธานี ได้ตรวจสอบงบการเงินงวดปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ของ อบจ.ปทุมธานี พบว่า มีการไม่ปฏิบัติระเบียบและหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดหลายกรณี ทำให้ราชการเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน ๒๓๘,๑๘๔,๖๓๓.๐๒ บาท ได้แก่ การจัดงานโครงการที่เน้นการใช้จ่ายเงินในลักษณะฟุ่มเฟือยและไม่มีกฎหมายให้เบิกจ่ายได้ การจัดฝึกอบรมและศึกษาดูงานในต่างประเทศไม่สอดคล้องกับแนวทางและหลักเกณฑ์ในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวตามหนังสือ ด่วนมาก ที่ มท ๐๘๐๙.๓/ว ๒๙๘๘ ลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๐ การจ่ายขาดเงินสะสมล่าช้าและไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน คตง. พิจารณาแล้วมีมติให้ดำเนินการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
๔. การตรวจสอบงบการเงินงวดปีงบประมาณ ๒๕๕๗ และ ๒๕๕๘ ของเทศบาลตำบลธัญบุรี
สตจ.ปทุมธานี ตรวจสอบงบการเงินงวดปีงบประมาณ ๒๕๕๗ และ ๒๕๕๘ ของเทศบาลตำบลธัญบุรี พบว่า มีการจ่ายขาดเงินสะสมเป็นค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จำนวน ๑๙๒,๙๘๘,๒๒๓.๓๓ บาท โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบและหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ พบว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ มีการจ่ายขาดเงินสะสมเป็นค่าครุภัณฑ์ฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยจำนวนหลายรายการต่อเนื่องมา การกระทำดังกล่าวมีผลทำให้ยอดเงินสะสมลดลงซึ่งอาจกระทบต่อการช่วยเหลือประชาชนในอนาคตหากมีกรณีจำเป็นเร่งด่วน นอกจากนี้ เทศบาลตำบลธัญบุรีมีการจัดโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงานในต่างประเทศไม่สอดคล้องกับแนวทางและหลักเกณฑ์ในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวตามหนังสือ ด่วนมาก ที่ มท ๐๘๐๙.๓/ว ๒๙๘๘ ลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๐ ทั้งสองกรณี คตง. พิจารณาแล้วมีมติให้ สตจ.ปทุมธานี แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
๕. การตรวจสอบโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกระทะ จังหวัดภูเก็ต ของสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ ๑๕ กรมชลประทาน
สตพ.๑๓ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) ได้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะทะฯ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากวงเงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๕๒ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ๒๕๕๕ วงเงิน ๖๖๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จากการตรวจสอบพบว่า ผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะทะฯ ล่าช้า ไม่แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากแผนงานก่อสร้างทำนบดินหัวงานและอาคารประกอบไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ เนื่องจากมีการแก้ไขสัญญาจ้างหลายครั้ง มีการแก้ไขแบบรูปรายการงานก่อสร้างอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ขยายเวลาตามมติ ครม. ๒ ครั้ง และแก้ไข
แบบรูปรายการทำนบดินเนื่องจากวัสดุที่ได้จากบ่อดินและบ่อหินในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างไม่เพียงพอ จึงได้เปลี่ยนวัสดุจากเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวเป็นเขื่อนดินถมโดยใช้วัสดุสังเคราะห์มาทดแทน ประสบปัญหาเรื่องการระเบิดหินเนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งชุมชน และผู้รับจ้างขาดความพร้อมด้านเครื่องจักรและเงินทุน
การดำเนินโครงการที่ล่าช้าดังกล่าว ทำให้รัฐรับภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๕๒ ผลจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ไม่ทันในเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ เป็นผลให้งบประมาณถูกพับ ทำให้กรมชลประทานขออนุมัติจาก ครม. เพิ่มวงเงินงบประมาณเพื่อไปสมทบรายการจ่ายกล่าวตามปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๕๙ และ ๒๕๖๐ จำนวน ๑๗๘,๒๘๖,๐๒๑.๔๔ บาท เพื่อใช้ในการการดำเนินการโครงการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ส่งผลให้กรมชลประทานลดวงเงินงบประมาณดังกล่าวในการดำเนินการตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำจากโครงการอื่น และเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณจำนวนดังกล่าวไปพัฒนาแหล่งน้ำอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเดือดร้อนมากกว่า นอกจากนี้ผลจากการแก้ไขแบบรูปรายการสืบเนื่องจากปริมาณดินและหินไม่เพียงพอสำหรับก่อสร้างตามแบบรูปรายการเดิมได้ ทำให้รัฐต้องอนุมัติเงินงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน ๓๑,๓๘๗,๐๘๒.๘๐ บาท คิดเป็นร้อยละ ๖.๙๙ ของงบประมาณเดิมที่ได้รับ รวมทั้งสูญเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าวไปพัฒนาโครงการอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเดือดร้อนมากกว่า ประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตไม่ได้รับการแก้ไขและบรรเทาปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และกระทบต่อแผนการลงทุนของการประปาส่วนภูมิภาค ทั้งการดำเนินการตามโครงการมีความเสี่ยงว่าจะไม่แล้วเสร็จตามสัญญา
คตง. พิจารณาแล้วมีมติให้นำเรื่องกราบเรียนนายกรัฐมนตรี และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาหาแนวทางป้องกันความชำรุดเสียหายที่กระทบต่อความแข็งแรงมั่นคงของเขื่อน หากแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์เกิดฉีกขาดระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการกันเซาะตัวเขื่อนและดำเนินการที่เกี่ยวข้อง