กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--studio mango
CAT พร้อมก้าวเป็นอันดับ 1 ของผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในไทยมุ่งพัฒนาโครงสร้างและบริการ รองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต
การปฏิรูปประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลไทยยังคงถูกขับเคลื่อนจากหน่วยงานต่างๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งบริบทหนึ่งคือการพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจในประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล
การก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้นั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาด้วย New S Curve หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์/ธุรกิจใหม่เข้าสู่ตลาด เพื่อทดแทนหรือต่อยอดผลิตภัณฑ์/ธุรกิจเดิมให้มีการเติบโตต่อเนื่องในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่จะต้องก้าวนำความต้องการของลูกค้าเพื่อโอกาสในการขยายตลาด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด มหาชน หรือ CAT ได้มีการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องรองรับความต้องการยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ในหลากหลายบริการ ต่อยอดจากการให้บริการโครงข่ายเพื่อการสื่อสารข้อมูลและอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Cloud Computing, IT Security หรือ e-Business สิ่งเหล่านี้จะทำให้ CAT สามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ และรักษาตลาดเดิมไว้ได้ โดยการพัฒนาวงการสื่อสารโทรคมนาคมของ CAT ด้วยธุรกิจ New S-Curve ยังส่งผลสนับสนุนต่อการพัฒนา New S-Curve ในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น โดยการสร้างนวัตกรรมต่อยอดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคตเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่การเติบโตของภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
ในส่วนของ CAT หนึ่งในผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารข้อมูลรายใหญ่ที่มีบทบาทอย่างมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย โดยได้พัฒนาระบบโครงข่ายครอบคลุมมากที่สุดและพร้อมให้บริการด้านโทรคมนาคมในทุกด้าน และเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของโครงสร้างระบบสื่อสารโทรคมนาคม โดยมีการวางแผนพัฒนาระบบเคเบิลใต้น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อประสิทธิภาพในการรองรับการใช้งานทั้งปัจจุบันและอนาคต ล่าสุดได้เปิดใช้งานเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ Asia Pacific Gateway (APG) เพื่อตอบสนองการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อสารข้อมูลในภูมิภาคเอเชีย และเป็นการเพิ่มศักยภาพรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างประเทศร่วมกับเคเบิลใต้น้ำระบบต่างๆ ที่ใช้งานอยู่เดิม ซึ่งจะเพิ่มเสถียรภาพโครงข่ายสื่อสารระหว่างประเทศในภาพรวมของไทยและเป็นการเอื้อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอินเทอร์เนตของภูมิภาคได้ในอนาคต
การมีโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมที่สามารถรองรับแบนด์วิธจำนวนมากได้นั้น เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งรัฐบาล ได้ตั้งเป้ากลไกการขับเคลื่อนด้วยโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคธุรกิจไทยโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยสนับสนุนให้เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจสู่ระบบการค้าออนไลน์เต็มรูปแบบ ( e – Business) ตลอดจนเตรียมฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงระบบการค้าไทย ให้เข้ากับระบบการค้าสากล ทั้งนี้ CAT ได้เตรียมความพร้อมในส่วนของบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริการ Internet Gateway ซึ่งเป็นบริการ Internet Exchange ที่จะตอบสนองความต้องการสื่อสารข้อมูลของธุรกิจได้อย่างครบวงจร พร้อมเทคโนโลยี IPv6 ที่สามารถพัฒนาไปสู่ยุค Internet of Things (IoT) ได้อย่างมั่นคง
บริการของ CAT ที่ได้เตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมผลักดันและขยายขีดความสามารถของธุรกิจระบบออนไลน์ให้แก่ประเทศไทยได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ และเมื่อ CAT ได้เพิ่มความหลากหลายของบริการ On-top ทำให้ CAT สามารถเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทมากขึ้นอีกเช่นกัน