ผนึกพลังภาคี : รัฐ วิชาการ ประชาชน สางปัญหาความยากจน เน้นต้องร่วมมือกัน

ข่าวทั่วไป Wednesday August 3, 2005 10:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--สกว.
ปัญหาความยากจน เป็นนโยบายเร่งด่วนของประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญและกำหนดให้ทุกภาคส่วนในสังคมต้องผนึกกำลังร่วมกันในการแก้ไข ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นฐานของความพอดีภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ(ศตจ.)โดยจัดทำยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนด้วย โครงการนำร่องการบูรณาการการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงมหาดไทย(มท.)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)เพื่อพัฒนาให้เกิดกลไกและระบบที่เอื้อให้พื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและชุมชน สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างบูรณาการ มุ่งเน้นการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ตลอดจนเสริมพลังและศักยภาพเครือข่ายชุมชน ภาคประชาชน ให้ผนึกกำลัง เป้าหมาย แผนปฏิบัติการของภาคประชาชนกับภาคีท้องถิ่น เชื่อมโยงสู่ยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อให้เกิดแผนแก้ไขความยากจนจังหวัดที่พัฒนาจากความร่วมมือของเจ้าของปัญหาร่วมกับภาครัฐ
โดยการดำเนินงานดังกล่าวได้เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 ในพื้นที่นำร่อง 13 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ อุทัยธานี เชียงใหม่ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ยโสธร นครพนม นครปฐม สมุทรสงคราม ตรัง พัทลุง ปัตตานี ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดบทเรียนรูปธรรมเป็นการผนึกพลังระหว่างภาครัฐ วิชาการและประชาชนในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยผ่านการดำเนินงานโครงการนำร่อง กำหนดทิศทางและจังหวะก้าวร่วมกันในการขยายผลจังหวัดนำร่อง รวมทั้งการจัดบทบาทในการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกันระหว่างส่วนกลาง พื้นที่ ภาครัฐ ชุมชน ท้องถิ่น และจัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกันเมื่อระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ
พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประธานที่ปรึกษา ศตจ.ชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษโดยเน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนจะต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางใช้ข้อมูลความรู้ต่างๆเข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นการทำงานบนฐานความรู้ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยต้องทำทั้งในส่วนที่เป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนส่วนของผู้ที่มาจดทะเบียนปัญหาความยากจน ซึ่งมีถึง 12 ล้านปัญหา ที่คณะอนุกรรมการชุดต่างๆกำลังเร่งรัดดำเนินงาน รวมถึงยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาระยะยาว/แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ได้แก่ กฎหมาย การศึกษา โครงสร้างพื้นฐานที่ดิน แหล่งน้ำ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ระบบสวัสดิการ โครงสร้างการบริหารจัดการการจัดไกลไก และเรื่องสำคัญคือช่วงที่ระบบเศรษฐกิจเริ่มไหวตัวอีกครั้ง ศตจ.ต้องเริ่มคิดแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความผ่อนหนักเป็นเบา
นายไมตรี อินทุสุต รองหัวหน้าสำนักงานศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การดำเนินโครงการ 6-7 เดือนที่ผ่านมา พบว่าแกิด 3 ตัวเสริม 3 พลัง ที่ประสานกันเป็นพลังขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาความยากจน นั่นคือ 1)เกิดแรงเสริมในภาคประชาชนที่นำไปสู่การเกิดพลังร่วม 2)จากพลังร่วมเมื่อขับเคลื่อนด้วยโครงการนำร่องทำให้เกิดการร่วมวงกันทำงานมากกว่าสามวงทำให้เกิดการเชื่อมโยงและเป็นระบบ นั่นคือเกิดพลังร่วมทางวิชาการที่เป็นการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน 3) การสร้างเวทีที่ให้ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชนได้มาแสดงผลการทำงานร่วมกันทำให้เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนในการแก้ปัญหา นั่นคือการขับเคลื่อนในหลายมิติ
“ ไม่อยากให้คิดแยกว่าเป็นการทำงานของส่วนใดแต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เป็นความร่วมมือในภาคีทั้งภาครัฐ วิชาการและประชาชน กล่าวได้ว่าจากการทำงานร่วมกันทำให้เกิดการบูรณาการย่อยๆในทั้ง 3 ภาค และเป็นต้นแบบให้จังหวัดหันมาร่วมมือทำงานแบบบูรณาการทั้ง 3 ส่วนและทำให้ชุมชนหรือภาคประชาสัมคมตื่นตัวมาร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เพราะสุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาความยากจนก็คือ การแก้ปัญหาของชุมชนนั่นเอง”
ด้านภาควิชาการ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม สกว.กล่าวว่า ระบบการจัดการงานวิจัยของสกว.เห็นได้จากการวางแนวคิดและวิธีการทำงานของทีมวิชาการเพื่อเข้าไปเปิดทางทำงานร่วมกันที่เป็นจุดสำคัญมากและเป็นตัวหนึ่งที่ใช้ตัดสินความสำเร็จของงานได้ว่า สามารถเชื่อมภาคีได้หรือไม่ และระบบการบริหารจัดการงานวิจัยรวมถึงการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของพื้นที่ ฯลฯ โครงการวิจัยลักษณะนี้ต้องเกิดหลังจากที่ภาครัฐและภาคประชาชนเห็นภาพชัดร่วมกันว่า เขาต้องการได้รับการสนับสนุนเรื่องใด แล้วงานวิจัยเข้าไปช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาด เช่น การสนับสนุนงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพาราให้แก่จังหวัดที่ปลูกยางพาราเป็นหลัก โดยเติมต็มงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการผลิตยาง เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้ถือเป็นบทเรียนที่สกว.ได้จากการทำงานเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญทำให้เราทราบว่า การนำข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ของแต่ละฝ่ายมาแลกเปลี่ยนกันนั้น ทำให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก
จากการไปดูงานในโครงการนำร่องดังกล่าวเห็นว่า หลายฝ่ายเริ่มตื่นตัวในการแก้ปัญหาความยากจนว่าจะขาดฝ่ายใดหนึ่งฝ่ายใดไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนที่เป็นแรงขับเคลื่อน โดยกระบวนการทำงานอาจแตกต่างกันแต่เป้าหมายควรเป็นสิ่งเดียวกัน งานนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย อย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องเชื่อมโยงกับศตจ.และกระทรวงมหาดไทย หรือฝ่ายสกว.ที่ร่วมมือกับเครือข่ายวิชาการว่าจะให้การสนับสนุนไปในทิศทางใดเพื่อให้การทำงานเกิดความสอดคล้องกัน
นายสุจิตร์ สว่างอารมณ์ ผู้แทน ศตจ.ประชาชน จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าทุกข์หรือความจนมันใหญ่มันเยอะ ห้วงทุกข์เหล่านั้นตนมองว่ามีอยู่ 4-5 ชั้นคือ จากตัวเอง จากคนอื่น จากกฎหมายนโยบาย จากกติกาสังคม และจากโครงสร้างอะไรต่าง ๆ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้จำเป็นต้องวางเป็นระดับ ๆ และถ้ามาร่วมกันรวมพลังกันก็จะได้ชุดความรู้ที่จะไปช่วยแก้ปัญหาหรือปลดทุกข์ และในส่วนภาคประชาชนวันนี้เราก็ได้ร่วมกันเพื่อปลดทุกข์ตัวเอง หยิบใช้เงื่อนไขโอกาสที่รัฐสนับสนุน
ผู้แทนภาคประชาชนคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า ในการแก้ปัญหาการต่อสู้ความยากจนนั้น เราต้องปรับกระบวนการทำงานแบบร่วมมือกัน อย่างประชาชนเริ่มขับเคลื่อนไปแล้วแต่หากภาครัฐยังไม่สั่งการย่อมไม่เห็นผล ซึ่งปัญหานี้ควรต้องปรับเข้าหากันและอย่าให้เป็นเพียงข้อตกลงความร่วมมือในกระดาษ หรือทิ้งปัญหาให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องทำงานเพียงลำพัง ซึ่งหากผนึกกำลังร่วมกันแล้วเชื่อว่า จะทำให้เราสามารถต่อสู้กับความยากจนได้เห็นผล
ทั้งนี้จากการเสวนาร่วมระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนศตจ.มท. ผู้แทนภาควิชาการ และผู้แทนชุมชนจากพื้นที่นำร่อง ได้ข้อสรุปของการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนว่า 1)ต้องมีการเชื่อมโยงงานในพื้นที่ และประเด็นการเชื่อมโยงต้องใหญ่พอ เช่น ประเด็นที่ดิน น้ำ แผนชุมชน 2) ความสำเร็จชี้ขาดอยู่ที่จังหวัดและอำเภอ และความตื่นตัวทั้งสมองและจิตใจของทีมงานทั้งภาครัฐและประชาชน 3) การเสิรมแรงและสร้างพลังร่วมทั้งภาคประชาชนและจังหวัด โดยมีภาควิชาการช่วยจัดระบบและภาครัฐเสริมการขับเคลื่อน 4)ดึงพลังต่าง ๆ ในจังหวัดให้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการแก้จนของจังหวัด และแบ่งความรับผิดชอบให้ชัดเจนตามทักษะ ประสบการณ์ของแต่ละภาคี 5)ภาวะผู้นำสามารถสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นได้ ที่สามารถดึงพลังศักยภาพของทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันทำแผนแก้จนจังหวัด 6) เปิดโอกาสให้ประชาชนเจ้าของทุกข์มาร่วมกันแก้ไขปัญหาและดูแลปัจจัยการผลิต 7)มีความเข้าใจ เห็นใจ และเรียนรู้ร่วมกัน เข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างของภาคประชาชนและภาครัฐ 8) มีระบบข้อมูลการตัดสินใจที่ใช้ได้ทุกระดับทั้งรัฐและประชาชน
สุดท้ายการระดมความเห็นกลุ่มย่อยแต่ละจังหวัดได้กำหนดวิธีการ/แนวทางสำคัญในการทำแผนแก้จนจังหวัดอย่างบูรณาการโดยดูตัวอย่างจากจังหวัดนำร่องที่ประสบผลสำเร็จ นั่นคือ เริ่มจากการประมวลข้อมูลแกนนำและพื้นที่ศักยภาพ จัดเวทีหารือทั้งส่วนของประชาชนและรัฐกับประชาชนเพื่อเชื่อมโยงแกนนำระดับจังหวัด หารือร่วมกันกับศตจ.มท.และภาคประชาชน สร้างประเด็นร่วมผนึกกำลังการทำงานร่วมกันของต่างเครือข่ายหรือสร้างแผนการทำงานร่วมกัน จากนั้นบูรณาการงบประมาณทั้งจส่วนกลาง/ผจว.CEO/ท้องถิ่น นำไปสู่ขั้นสุดท้ายคือการพัฒนากลไกขับเคลื่อนงานซึ่งประกอบด้วยกลไกชุมชนทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ซึ่งทั้งหมดนี้เป้นการจัดระบบกลไกการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ผ่านการผนึกกำลังของภาครัฐ ภาคประชาชน และภาควิชาการ โดยใช้แผนเป็นเครื่องมือเชื่อมโยง
การสัมมนาครั้งนี้นอกจากการเผยแพร่แนวทางและรูปธรรมการผนึกพลังระหว่างภาครัฐ วิชาการ และประชาชน ในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยผ่านการดำเนินงานโครงการนำร่อง กำหนดทิศทางและจังหวะก้าวร่วมกันในการขยายผลจังหวัดนำร่อง รวมทั้งการจัดบทบาทในการแก้ไขปัญหาความยากจนร่วมกันระหว่างส่วนกลาง พื้นที่ ภาครัฐ ชุมชน/ท้องถิ่นแล้ว หน่วยงานดำเนินงานโครงการนำร่อง 3 หน่วยงาน คือ ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน กระทรวงมหาดไทย (ศตจ.มท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงในการผนึกพลังในการดำเนินงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดนำร่องและจังหวัดขยายผลที่จะตามมาในอนาคต ซึ่งจากครั้งนี้จะมีการแตกหน่อออกไปอีก 46 จังหวัดทั้งในทุกภาคของประเทศ.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
โทร.02-619-6188 E-mail:pr@pr-trf.net
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ