กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม จัดใหญ่สัมมนาวิชาการประจำปี 2560 ติวเข้มผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค THAILAND 4.0 ผลักดันอุตสาหกรรม S-Curve ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ กลุ่มหุ่นยนต์ กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ และกลุ่มยานยนต์อนาคต เข้าสู่โหมด Smart Factory หนุนสตาร์ทอัพนักประดิษฐ์รุ่นใหม่สร้างเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสร้างสรรค์เป็นตัวยกระดับอุตสาหกรรม เน้นการลงทุนรูปแบบคลัสเตอร์ เร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "อนาคตอุตสาหกรรมไทยยุค THAILAND 4.0" ว่า ทิศทางและการขับเคลื่อนการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในยุคThailand 4.0 จำเป็นต้องอาศัยการประสานความร่วมมือในรูปแบบ 4 ประสาน จากทุกภาคส่วน ได้แก่ 1) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับผลิตภาพการผลิตของกลุ่มด้วยนวัตกรรมและการจัดการ พร้อมทั้งบ่มเพาะและพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมของตนเอง 2) ร่วมกับสถาบันการศึกษาในการยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอนาคต โดยสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเบื้องต้นสามารถร่วมกันในการพัฒนาบุคลากรระดับวิศวกรและช่างเทคนิคในด้านElectronic Design เช่น Embedded System, PCB Design, MicroElectronic Design, IoT Application ด้าน Mechatronic ในสาขา Informatics และสาขา Mechanical และด้านการออกแบบกระบวนการผลิตที่เป็น Automation System Design เป็นต้น
3) ร่วมกันส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่าง 3 ฝ่าย(Golden triangle หรือ Triple Helix) ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสถาบันวิจัย/สถาบันการศึกษา เป็นเครือข่ายในระดับประเทศและระดับพื้นที่ประกอบการ และ4)การพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ(Automation) การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data Analytics) และเทคโนโลยีดิจิทัล(Digitalization) เพื่อนำมาใช้สำหรับการยกระดับภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมสู่ Smart Factory
นายพสุ โลหารชุน ประธานคณะกรรมการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่าทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยสู่ยุค THAILAND 4.0 นั้น นับเป็นการก้าวข้ามไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เปลี่ยนจากเอสเอ็มอีที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็นสมาร์ท เอ็นเตอร์ไพรซ์ และสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยเฉพาะกลุ่ม อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ กลุ่มหุ่นยนต์ กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ และกลุ่มยานยนต์อนาคต
การจัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 โดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในครั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศและต่างประเทศในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง อาทิ "การปรับตัวของอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0", "ทิศทางและนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยสำหรับอนาคต", "Industrial Internet of Things (IIoT)", "การออกแบบอนาคต-Smart Future" และ "Trend of International Standards for Smart Appliances" นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อาทิ รถยนต์ ไฟฟ้า VERA V1 ซิตี้คาร์ไฟฟ้า แบรนด์ไทย, หุ่นยนต์ดินสอมินิ รุ่นดูแลผู้สูงอายุ, อุปกรณ์สวมใส่เพื่อตรวจจับการล้มสำหรับผู้สูงอายุ และเครื่องตรวจการหลับใน AlertZ เป็นต้น
ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในการบรรยายเรื่อง "การปรับตัวของอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0" ว่าแนวทางการปรับตัวที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การพัฒนาคนของผู้ประกอบการให้มีความชำนาญใหม่, สร้าง System Integrator ทั้งคุณภาพและปริมาณให้เพียงพอ, กระตุ้นให้ผู้ประกอบการลงทุนระบบ Automation และ Robot ด้วยสิทธิพิเศษทางภาษี, ปรับโครงสร้าง ICT ของรัฐรองรับ IOT เช่น IPV6, Cloud Computing, พัฒนาผู้ประกอบการให้นำระบบสารสนเทศมาใช้ในอุตสาหกรรม,พัฒนาให้ผู้ประกอบการทำตลาดแบบ Mass Customization/Demand Pull,ให้การช่วยเหลือให้คำปรึกษา clinic / feasibility / Pilot automation line,ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การลงทุน เช่นดอกเบี้ยต่ำ และปรับโครงสร้างภาษีชิ้นนำเข้าส่วนและส่วนประกอบในการผลิตระบบอัตโนมัติ โดยมีประชารัฐในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษา BOI สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการบรรยายเรื่อง "ทิศทางและนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในอนาคต" ว่าสำหรับแนวทางการยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่ยุค THAILAND 4.0 นั้น ควรให้ความสำคัญในการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยขยายนิยามไปสู่การออกแบบหรือการสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ Solution หรือการใช้งานด้วย ขณะที่การบริการหลังการขายและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสำคัญมาก เพราะผู้บริโภคสามารถให้ข้อมูลกันเองได้โดยตรง (Amazon Model) โดยการตลาด และการกระจายสินค้าทำได้ง่ายขึ้น ส่งตรงถึงผู้บริโภคและต้นทุนต่ำลง เช่น ผ่าน Facebook, Instagram รวมทั้งการค้าผ่านร้านค้าออนไลน์ เช่น Alibaba, Lazada, Zalora
สำหรับการเป็น Smart Industry ภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนในด้าน 1)โครงสร้างพื้นฐาน โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลการผลิตทั้งห่วงโซ่การผลิตรวมทั้งข้อมูล feedback และความต้องการของผู้บริโภค สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ นักออกแบบอุตสาหกรรม และผู้จัดจำหน่าย จัดทำและเผยแพร่ฐานข้อมูลของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และไฟฟ้ากำลัง และเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับ Start-up พัฒนาระบบการนำข้อมูลไปใช้ (Big Data)อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลที่เข้าถึงได้และเข้าถึงง่าย (Open and Easy Data) พัฒนาระบบ e-government และระบบ IoTที่เชื่อถือได้ 2)ตราสินค้ามาตรฐาน เป้าหมายคือมีตราสินค้า/ความน่าเชื่อถือ จนกลายเป็น Economy of Scale ของการผลิต และเป็นตัวกำหนดศักยภาพการแข่งขันที่สำคัญ สร้างแรงจูงใจให้จดทะเบียนนวัตกรรม มีมาตรฐานที่สอดคล้องกับยุค Mass Customization มีห้องทดสอบที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ โดยเฉพาะ Design lab และห้องทดสอบไฟฟ้าแรงสูง
3)มาตรการทางการลงทุน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้า/ชิ้นส่วนหลักได้เอง สนับสนุนให้เกิดการกระจายเทคโนโลยี ส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ 4) มาตรการทางการเงิน สนับสนุนการร่วมทุน ส่งเสริมการทำ venture capital ในการระดมทุนของผู้ประกอบการ สนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ผลิตและผู้ใช้สินค้ากลุ่ม SMART Community หรือ SMART FACTORY, ให้การสนับสนุน SMEs ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีศักยภาพในการต่อยอดการผลิต โดยอาจใช้แนวทางเดียวกับ Startup และ 5)บุคลากร พัฒนาคุณภาพของบุคลากรให้สามารถต่อยอดการวิจัยและพัฒนาของ SMART Industryได้, เพิ่มจำนวนบุคลากรให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อการประกอบการใน SMART Industry มีหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านการออกแบบ เช่น Electronic Design ทั้งการศึกษาในระบบและการฝึกอบรม