กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
แจงวิธีเอาตัวรอดจากการสำลักควันไฟ เตือนทุกบ้านควรมีถังดับเพลิงและฝึกใช้ให้เป็น ห่วงเด็กเล่นประทัดแนะผู้ปกครองดุแลใกล้ชิดย้ำเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรแจ้งสายด่วน 1669
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติออกมาระบุว่า วันนี้เป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งเป็นประเพณีเคารพบรรพบุรุษของคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งจะมีการจุดประทัดจุดเทียนเผากระดาษเงินกระดาษทองให้กับบรรพบุรุษ โดยหากไม่ระวังให้ดีอาจจะทำให้เกิดไฟไหม้ได้ โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีบ้านเรือนติดกันหรือเป็นตึกแถวยิ่งมีความเสี่ยงและน่าเป็นห่วงเพราะหากเกิดไฟไหม้ความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินก็จะมากตามมาด้วยเหมือนเหตุการณ์ไฟไหม้ล่าสุดที่อาคารพาณิชย์ ย่านถนนนวมินทร์ เขตบึงกุ่มที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 5 คน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากเหตุไฟไหม้ประชาชนจึงควรระมัดระวังในการจุดธุปเทียนไม่ควรจุดมากๆในครั้งเดียวเพราะอาจทำให้ไฟลามได้ง่าย ควรจุดธูปเทียนในภาชนะทนไฟ และเมื่อจุดธุปเทียนเสร็จแล้วก็ควรดูแลดับธูปเทียนให้เรียบร้อยด้วย และกระดาษเงินกระดาษทองที่เผาเสร็จแล้วควรดับไฟให้สนิทด้วย นอกจากนี้แล้วในการประกอบพิธีนั้นควรทำในพื้นที่โล่งแจ้ง ห่างจากแหล่งเชื้อเพลิงและควรเตรียมถังน้ำหรือถังดับเพลิงไว้ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อความไม่ประมาท ส่วนการจุดประทัดควรระมัดระวัง ไม่ควรจุดครั้งละมากๆ และหากมีเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้จุดประทัดเล่น โดยลำพังเพราะอาจเกิดอันตรายได้
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางในการเอาตัวรอดหากเราตกอยู่ในเหตุการณ์ไฟไหม้ว่า หากเราตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ไฟไหม้สิ่งแรกที่เราจะต้องทำคือตั้งสติ อย่าตื่นตกใจ และรีบโทรแจ้งสายด่วน 199 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งทีมเข้ามาช่วยในการดับไฟ และในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่เข้าให้การช่วยเหลือหากไฟที่ไหม้ยังไม่ได้ลุกลามในวงกว้างให้เราใช้ถังดับเพลิงฉีดเพื่อดับไฟ โดยถังดับเพลิงนั้นควรเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ทุกบ้านต้องมี ซึ่งในการเลือกซื้อถังดับเพลิงเข้าไปไว้ในบ้านนั้นจะต้องเป็นถังดับเพลิงที่สมาชิกครอบครัวภายในบ้านยกไหวและควรฝึกการใช้งานถังดับเพลิงให้กับสมาชิกในบ้านทุกคนด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อเราประเมินแล้วว่าไฟที่ไหม้เป็นวงกว้างไม่สามารถดับได้ให้ทุกคนรีบหนีออกจากตึกหรือบ้านที่ไฟไหม้ทันที และหากห้องที่เป็นต้นเพลิงมีประตูให้เรารีบปิดประตูห้องนั้นทันทีเพราะการปิดประตูห้องที่ไฟไหม้อย่างมิดชิดนั้นจะช่วยชะลอให้ไฟที่กำลังโหมไหม้นั้นช้าลงและจะทำให้เราไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกไฟลวกด้วย
นพ.อนุชากล่าวถึงแนวทางในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ไฟไหม้เพิ่มเติมอีกด้วยว่า ในระหว่างการหนีไฟนั้นหากเราจะต้องเปิดประตูเข้าไปยังห้องหนึ่งห้องใดเพื่อหนีจากไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่นั้นเราควรใช้หลังมือสัมผัสประตูหรือลูกบิดก่อนและหากพบว่าลูกบิดหรือประตูร้อนและมีควันเล็ดลอดออกมาแสดงว่าในห้องนั้นกำลังมีไฟลุกไหม้อยู่ไม่ควรเข้าไป และในระหว่างการหนีไฟหากที่บ้านหรือตึกที่เราอยู่อาศัยมีลิฟต์ห้ามเราใช้เป็นช่องทางในการหนีไฟเด็ดขาด เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้จะส่งผลให้ไฟฟ้าดับทำให้ลิฟต์ไม่ทำงานซึ่งจะทำให้เราเสี่ยงติดอยู่ในลิฟต์และถูกเผาทั้งเป็นในนั้นได้ และหากเส้นทางที่เรากำลังหลบหนีจากไฟนั้นมีควัน ให้เราหมอบคลานต่ำ หรือหมอบราบ และหากมีน้ำหรือผ้าอยู่ใกล้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูก เพื่อป้องกันอันตรายจากควัน หรือการสำลักควันซึ่งเป็นสาเหตุกว่าร้อยละ 90ที่ทำให้เสียชีวิต และหากเสื้อผ้าของเราติดไฟนั้นเราไม่ควรวิ่งเพราะการวิ่งจะทำให้ไฟลุกลามไปส่วนอื่นๆได้ไว้ขึ้น ให้เราหยุดนิ่งล้มตัวลงนอนกับพื้นทันทีใช้มือปิดหน้าและกลิ้งตัวทับเสื้อผ้าที่ติดไฟจนกว่าจะดับ
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวถึงกรณีช่วยเหลือคนที่ตกค้างอยู่ในบ้านหรือตึกที่โดนไฟไหม้ว่า หากเราออกมาได้ก่อนให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ว่ายังมีสมาชิกในบ้านของเรายังติดอยู่ในตึกหรือบ้านที่โดนไฟไหม้ และหากเราทราบบริเวณที่ติดก็ให้รีบบอกอย่างชัดเจน และสำหรับคนที่ติดอยู่ในบ้านหรือในอาคารก็ให้ปิดประตูและหน้าต่างด้านในอาคารเพื่อป้องกันควันไฟและให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันควันไฟและให้รีบเปิดหน้าต่างด้านนอกอาคารหรือนอกบ้าน ถ้าเป็นกลางคืนและมีไฟฉายก็ให้ใช้ฉายส่องบอกจุดที่ตนเองอยู่กับเจ้าหน้าที่ หรือใช้ผ้าโบกบอกตำแหน่งที่เราอยู่กับเจ้าหน้าที่ หรือหากมีโทรศัพทมือถือก็ให้โทรแจ้งบอกสมาชิกในครอบครัวที่หนีออกไปก่อนได้ให้ทราบพิกัดให้ชัด
นพ.อนุชากล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนกรณีมีผู้บาดเจ็บ หากอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้วให้ดูแลเบื้องต้นสำหรับผู้ถูกไฟไหม้ โดยถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ถูกไฟเผาไหม้ออก แต่หากถอดเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับและพบว่ามีการตึงรั้งควรหลีกเลี่ยง ห้ามใช้น้ำมัน โลชั่น ยาสีฟันหรือยาปฏิชีวนะทาบนแผลเด็ดขาด แต่หากพบว่ามีบาดแผลไฟไหม้วิกฤติ คือมีแผลขนาดใหญ่ หรือไหม้ลวกทางเดินหายใจ และมีการอาการกลืนลำบาก เสียงแหบ หายใจลำบาก หรือมีอาการสูดควันจำนวนมาก ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า นอกจากจะต้องระวังในเรื่องของไฟไหม้แล้ว ในเรื่องของการจุดประทัดก็เป็นเรื่องที่เราเตือนกันทุกปี และถึงแม้เราจะเตือนกันทุกปีก็ยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการจุดประทัดอยู่ ซึ่งหากเราพบผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับอันตรายจากเหตุประทัดจนอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาด ให้รีบห้ามเลือด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล พันแผลบริเวณเหนือแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ทั้งนี้ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้ นอกจากนี้ควรสังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ควรงดอาหารทางปาก และจิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน ส่วนวิธีการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดคือ ให้นำสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในน้ำแข็ง โดยอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. ส่วนบริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 – 18 ชม. ส่วนการบาดเจ็บทางตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากทันที