กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--สหมงคลฟิล์ม
อะไรๆ ก็เป็นไอเดียได้
ผมไม่เคยเริ่มเขียนบทจากคาแรคเตอร์ จากธีม หรือจากพล็อต ผมเริ่มเขียนเพราะมีภาพบางภาพสปาร์คขึ้นมาในหัวและผมรู้สึกว่าผมอยากเล่าเรื่องนั้นต่อ เช่น A Separation ผมพัฒนามาจากภาพของผู้ชายคนหนึ่งกำลังอาบน้ำให้กับพ่อที่แก่มากแล้ว หรืออย่าง The Salesman ผมอยากทำหนังที่เกี่ยวกับคนทำงานสายละครเวที เพราะผมเรียนจบและเริ่มทำงานมาจากสายนั้น
อย่าเพิ่งกำหนดตัวละคร
เมื่อผมได้ภาพบางภาพที่มันกระตุ้นความสนใจแล้ว ผมก็จะลองขยายให้มันเป็นเรื่อง ผมจะไม่กำหนดลักษณะของตัวละครก่อน เพราะตัวละครจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาที่เขามีต่อเหตุการณ์ที่เขาต้องเจอในเรื่อง
ความแข็งแรงของแก่นเรื่อง
พอผมเขียนเรื่องไปได้สักประมาณ 10 หน้า ผมก็จะเริ่มต้นอ่านทวนอีกครั้ง แล้วก็ตีให้แตกว่า 10 หน้าที่ผ่านมา "บทหนังเรื่องนี้มันกำลังพูดเรื่องอะไร" แล้วผมก็จะได้ประเด็นหรือแก่นเรื่องจากตรงนั้น ผมจะยึดมันเป็นแกนแล้วเขียนให้มันสอดคล้องกันไปจนจบ
เรื่องราวอยู่รอบตัวเรา
หนังของผมมักว่าด้วยความสัมพันธ์ ผมคิดว่าผมเขียนในสิ่งที่มันธรรมดาที่สุด คือเรื่องคนสองคน ความสัมพันธ์ของคน มันเป็นปมที่เก่าและโบราณที่สุด แต่ก็ยังร่วมสมัย เพราะมนุษย์ก็คือมนุษย์ แค่เรื่องผัวๆเมียๆ มันก็กว้างเท่ากับมหาสมุทรพอให้คุณหยิบมาใช้งานได้แล้ว ความสัมพันธ์ของมนุษย์มันมีความเป็นไปได้หลากหลายมาก และสามารถพัฒนาไปเป็นเรื่องได้มากมาย เพียงคุณหัดสังเกตทุกสิ่งรอบตัว
ความสมจริงเป็นสิ่งสำคัญ
หนังหลายเรื่องของผมมีส่วนผสมของหนังระทึกขวัญและหนังดราม่า เพราะมันเป็นรสนิยมส่วนตัวของผม ผู้กำกับชั้นครูที่ผมชื่นชอบหลายคนทำแบบนั้นเช่น อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก, บิลลี่ ไวลเดอร์ แต่ในหนังฮิทช์ค็อก เราตื่นเต้นก็จริงแต่ตัวละครก็ไม่ใช่คนที่พบเห็นได้ในชีวิตจริง ผมอยากใส่ความสมจริงเข้าไปในนั้น ตัวละครและสถานการณ์จะต้องดูเหมือนว่ามันเกิดขึ้นได้จริงๆ รอบตัวเรา ผมชอบที่จะผสานดราม่าที่เข้มข้นเข้ากับความสามัญ ความสมจริงแบบสารคดี ผมจะไม่เขียนสตอรี่บอร์ดระหว่างถ่ายทำ เพราะผมอยากได้ความอิสระที่ดูสมจริงของเทคนิค
The Salesman กำหนดฉาย 16 กุมภาพันธ์ นี้