เครือ LPN ปรับโมเดลธุรกิจก้าวสู่ “บริบทใหม่แห่งความยั่งยืน”

ข่าวอสังหา Monday January 30, 2017 16:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ กลุ่ม LPN จัดทัพธุรกิจครั้งใหญ่ ก้าวสู่ "บริบทใหม่แห่งความยั่งยืน" แบ่งกลุ่ม 2 ธุรกิจ LPN มุ่งตลาดกลาง-ล่างถึงบน ลุยเปิดใหม่ปีนี้ 12 ทำเลทอง พรสันติมุ่งตลาดแนวราบเพื่อกระจายฐานธุรกิจ LPP ชูจุดแข็งการบริหารชุมชน ลุยเปิดรับบริหารงานนอก LPC มุ่งสู่ "Social Enterprise" LPS ปรับโมเดลธุรกิจจากบริหารงานก่อสร้างเป็นบริหารการให้บริการครบวงจรสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยหัวใจสำคัญของการปรับครั้งใหญ่นี้เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ : นายทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานคณะกรรมการบริหาร (CEO) บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) เปิดเผยว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา บริษัทได้ประสบอุปสรรคที่ส่งผลให้ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ด้วยสาเหตุจากทั้งปัจจัยภายใน คือ สินค้าค้างขาย (Inventory) และกลยุทธ์การเปิดโครงการทั้งขนาดและทำเล และปัจจัยภายนอก คือ หนี้สินครัวเรือนและอัตราการปฏิเสธสินเชื่อของกลุ่มลูกค้ากลางล่าง ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีของการเริ่มต้นวิสัยทัศน์รอบใหม่ บริษัทจึงได้กำหนดให้เป็น "ปีแห่งการปรับ" หรือ "YEAR OF SHIFT" ซึ่งจะเป็นการปรับทิศทางในการดำเนินงานของ LPN และ บริษัทในเครือทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มธุรกิจในการดำเนินงาน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) คือ 1. บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) 2. บริษัท พรสันติ จำกัด (PST) กลุ่มธุรกิจให้บริการ (Service Provider) คือ 3. บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด (LPC) 4. บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) 5. บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด (LPS) สำหรับ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) โดยนายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่าในปี 2559 ที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายประมาณ 8,500 ลบ. และรายได้จากการขายประมาณ 13,000 ลบ. ดังนั้น ในปีนี้บริษัทจะเพิ่มการพัฒนาโครงการที่ตอบสนองต่อกลุ่มลูกค้ากลาง-บนมากขึ้น โดย 7 จาก 12 โครงการจะเป็นโครงการสำหรับกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง-บนมูลค่าโครงการประมาณ 16,000 ลบ. เจาะทำเลใจกลางเมือง หรือแหล่งที่อยู่อาศัยที่ยังมีความต้องการซื้อ โดยตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 20,000 ลบ. ซึ่งในวันเสาร์ที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา บริษัทเปิดขายใน 2 ทำเลเด่น คือ ลุมพินี สวีท เพชรบุรี-มักกะสัน และ ลุมพินี เพลส บางนา กม.3 สร้างยอดขายสูงกว่า 1,700 ลบ. และในปีนี้ บริษัทยังตั้งเป้าหมายระบายสินค้าพร้อมอยู่ให้ได้มากที่สุดโดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7,000 ลบ. ขณะเดียวกันบริษัทยังต้องเพิ่มกลยุทธ์ทาง การตลาดและปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ตราผลิตภัณฑ์ (Brand Image)ให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นระดับกลางถึงบนอีกด้วย ด้าน บริษัท พรสันติ จำกัด (PST) โดยนายจรัญ เกษร กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ภายใต้แนวทางรองรับฐานลูกค้าลุมพินีและกระจายฐานธุรกิจของ LPN ในปี 2559 บริษัทมีรายได้จากการขายประมาณ 850 ลบ. และยอดขายประมาณ 1,400 ลบ. สำหรับปีนี้บริษัทมุ่งนโยบายที่จะเพิ่มรายได้ของโครงการแนวราบให้สูงขึ้นเพื่อทดแทนรายได้ของอาคารชุด ซึ่งในปี 2560 บริษัทมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 8 โครงการ โดยมีเป้าหมายยอดขายที่ 2,000 ลบ. และยอดรับรู้รายได้ที่ 1,500 ลบ. พร้อมพัฒนากระบวนการก่อสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านคุณภาพ ต้นทุนและเวลาส่งมอบ สำหรับการพัฒนาศูนย์การค้าชุมชน ในปัจจุบันบริษัทมีศูนย์การค้าชุมชนที่บริหารทั้งหมด 5 แห่ง คือ ศูนย์การค้าชุมชนขนาดเล็ก โครงการลุมพินี วิลล์ นาเกลือ วงศ์อมาตย์, ลุมพินี คอนโดทาวน์ พัทยาเหนือ-สุขุมวิท, ลุมพินี พาร์ค เพชรเกษม 98, ศูนย์การค้าชุมชน มิลล์ เพลส โพศรี จ.อุดรธานี และ มาร์เกต เพลส รังสิต-คลอง 1 ในโครงการ ลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1 รวมทั้งร้านค้าในชุมชนกว่า 300 ร้าน ที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยใน "ประชาคมลุมพินี" กลุ่มธุรกิจให้บริการ บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด (LPC) โดยนางสาวสุรัสวดี ซื่อวาจา กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินธุรกิจตามนโยบาย CSR เพื่อช่วยเหลือสตรีด้อยโอกาสที่มีการศึกษาน้อยจนถึงไม่ได้รับการศึกษาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบค่าจ้างแรงงาน บางรายมีปัญหาทางครอบครัว ถูกสามีทอดทิ้งและต้องรับผิดชอบดูแลบุตร ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการบริการหลังการขายโดยเฉพาะงานบริการ จึงได้จัดตั้งหน่วยงานบริการรักษาความสะอาดและงานบริการชุมชนให้กับชุมชนที่ LPN บริหาร เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีด้อยโอกาสได้เข้ามาทำงานกับบริษัท LPC จึงเป็นธุรกิจที่ปันผลกำไรคืนสู่สังคม สามารถสร้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่สตรีด้อยโอกาสในชุมชนลุมพินีกว่า1,800 คนแล้ว สำหรับทิศทางของ LPC ปีนี้ คือการเปิดรับงานบริการภายนอกโครงการ LPN จำนวน 20 โครงการ โดยจะขยายกลุ่มพนักงานจากสตรีด้อยโอกาสไปสู่คนพิการและผู้สูงอายุ และการปรับแผนธุรกิจไปสู่วิสาหกิจเพื่อสังคมแบบเป็นทางการ (Social Enterprise) บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) โดยนางสาวสมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่าบริษัทได้ดูแลงานบริการหลังการขาย ภายใต้กลยุทธ์ "ชุมชนน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย" ซึ่งเป็นจุดแข็งของแบรนด์ "ลุมพินี" ตามคุณค่าการบริการหลังการส่งมอบ (FBLES+P) ซึ่งได้พัฒนาการบริหารชุมชนเฉพาะโครงการของ LPN มากว่า 20 ปี สำหรับในปี 2560 นี้บริษัทจะเพิ่มความเข้มข้นด้านกลยุทธ์ในการบริหารชุมชน จาก "ชุมชนน่าอยู่" เป็น "ชุมชนน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย" เพื่อสร้างความสุขที่แท้จริงของการอยู่อาศัยให้กับชุมชน "ลุมพินี" กว่า 130,000 ครอบครัว ใน 143 โครงการ ในขณะเดียวกัน บริษัทจะขยายงานบริหารชุมชนสู่ภายนอก โดยในเบื้องต้นตั้งเป้าหมายไว้ที่ 15 โครงการ รวมเป้าหมายรายได้ประมาณ 520 ลบ. สำหรับ บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด (LPS) ในปีนี้ได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ ดร.พร วิรุฬห์รักษ์ แทนกรรมการผู้จัดการคนเดิมที่เกษียณอายุ ซึ่งการปรับเปลี่ยนธุรกิจของบริษัท LPS จะเป็นการ "Transformation" ด้วยการขยายฐานธุรกิจจากเดิมที่เป็นผู้บริหารงานก่อสร้าง ให้บริการเฉพาะโครงการของ LPN ไปบริหาร การให้บริการครบวงจรสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สู่ภายนอกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการนำศักยภาพและจุดแข็งด้าน Product Value ที่มีอยู่มาสร้างประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท CEO กล่าวในตอนท้ายว่า "ปีแห่งการ SHIFT ของเครือบริษัท LPN ในครั้งนี้เป็นความท้าทายครั้งสำคัญ เป็นบริบทใหม่แห่งความยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะเป็นแนวทางสู่การเติบโตของบริษัทอย่างมั่นคงและยั่งยืนแล้ว ยังสร้างความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพของยอดขาย รายได้ และคุณค่าของผลิตภัณฑ์ บริการ ที่จะสะท้อนกลับไปยังผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของบริษัทในอนาคตอีกด้วย"
แท็ก lpn   ลุย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ