กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา สงขลาปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งในช่วงวันที่ 28 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2560 ภาคใต้จะมีฝนลดลง บกปภ.ช. จึงได้ประสานให้จังหวัดเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล โดยให้คำนึงถึงการสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง พร้อมบูรณาการเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่มีอุปสรรคต่อการ ระบายน้ำ พร้อมเร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ครอบคลุม ทุกด้าน ทั้งที่อยู่อาศัย การเกษตร สาธารณูปโภค และการคมนาคม รวมถึงประชาสัมพันธ์มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลให้ประชาชนทราบ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการได้รับการช่วยเหลือตามสิทธิ ที่สำคัญ ให้จังหวัดเตรียมแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน โดยปฏิบัติตามกฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร รวมถึง พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พร้อมเชื่อมโยงแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช. ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) 14 ส่วนงานเข้าร่วมประชุมฯ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมคลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ยังคงมีสถานการณ์ ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 43 อำเภอ 272 ตำบล 1,484 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 133,913 ครัวเรือน 463,877 คน ซึ่งจากการติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ในช่วงวันที่ 28 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2560 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลงและไม่มีฝนตกหนักระยะนี้ การกระจายตัวของฝนประมาณร้อยละ 10 – 40 ของพื้นที่ และปริมาณฝนโดยส่วนมากน้อยกว่า 20 มิลลิเมตรต่อวัน บกปภ.ช. จึงได้ประสานให้จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใช้ช่วงเวลานี้ในการเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล โดยให้คำนึงถึงปริมาณการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ พร้อมสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ขอให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่บูรณาการการเคลื่อนย้ายกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์จากพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายไปประจำจุดที่สถานการณ์ยังวิกฤต โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำหรือสันดอนกลางน้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ และจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า บกปภ.ช. ได้เน้นย้ำให้จังหวัดน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ พร้อมกำหนดพื้นที่และหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและสามารถใช้ชีวิต ได้ตามปกติโดยเร็ว รวมถึงสานต่อแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยึดเป็นแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืนซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ ได้แก่ การเยียวยาผู้ประสบภัยในระยะเร่งด่วน การฟื้นฟูพื้นที่ที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย และการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว ซึ่งจังหวัดและหน่วยปฏิบัติต้องบูรณาการจัดทำแผนงานเฉพาะหน้า แผนงานระยะกลาง และแผนงานระยะยาว เพื่อ บกปภ.ช. จะได้รวบรวมแผนงานในภาพรวมต่อไป สำหรับการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหาย ให้จังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยตามสภาพความเสียหายจริง โดยพิจารณาความเสียหายจากโครงสร้างหลักของบ้าน แยกเป็น เสียหายเล็กน้อย (โครงสร้างเสียหายน้อยกว่าร้อยละ 30) เสียหายมาก (โครงสร้างเสียหายร้อยละ 30 – 70) และเสียหายทั้งหลัง (โครงสร้างเสียหายมากกว่าร้อยละ 70) พร้อมตรวจสอบข้อมูลเชิงพื้นที่ กรณีเป็นบ้านที่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย สามารถช่วยเหลือได้ทันที กรณีไม่มีกรรมสิทธิ์และยังเป็นประเด็นทางกฎหมาย เบื้องต้นสามารถจ่ายเงินเยียวยาได้ หากเสียหายทั้งหลังจ่ายเงินชดเชยหลังละ 33,000 บาท เสียหายบางส่วนจ่ายตามจริงไม่เกินหลังละ 33,000 บาท ส่วนการซ่อมแซมต้องหารือแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน โดยจังหวัดต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายให้ทหารและเครือข่ายช่างที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการ ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดต้องผ่าน ก.ช.ภ.อ. และ ก.ช.ภ.จ. ตามระเบียบปฏิบัติปกติ สำหรับความเสียหายด้านการเกษตร เกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้ 1.พื้นที่การเกษตรอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2.ขึ้นทะเบียนเกษตรกรถูกต้องตามที่กำหนด ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือทั้งเงินตามมาตรการเชิงนโยบายของรัฐบาลครัวเรือนละ 3,000 บาท เงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือให้จังหวัดยึดเป็นแนวทางปฏิบัติเดียวกัน ส่วนด้านสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า ประปา และด้านการคมนาคม ทั้งถนน สะพาน ทางรถไฟ ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบเร่งซ่อมแซมให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว โดยเฉพาะที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากเกินศักยภาพของท้องถิ่นและจำเป็นต้องใช้เงินทดรองราชการ ให้ดำเนินการผ่าน ก.ช.ภ.อ. และ ก.ช.ภ.จ. สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ให้จังหวัดที่มีพื้นที่ติดกัน เชื่อมโยงแผนงานและโครงการร่วมกัน โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจะจัดทำผังน้ำทั้งระบบ เพื่อตรวจสอบทิศทางการไหลของน้ำและจัดทำทางเบี่ยงน้ำ ซึ่งจะช่วยป้องกันน้ำท่วมสถานที่ราชการ และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด อีกทั้งให้นำ พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 มาบังคับใช้ โดยพื้นที่ที่มีการถมดินให้วางระบบการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ขวางทางน้ำและป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่อื่น นอกจากนี้ ที่ดินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจนแนวเขต สูญหายหรือกลายสภาพเป็นลำน้ำและพื้นที่สาธารณะ รัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินโครงการหวงกันที่ดิน โดยส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมให้บริการลงหลักปักหมุด เพื่อแสดงแนวเขตที่ดิน โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม รวมถึงได้งดเว้นภาษีบำรุงท้องที่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย และขยายระยะเวลาชำระดอกเบี้ยโรงรับจำนำจาก 4 เดือน เป็น 5 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและขอความร่วมมือจังหวัดประชาสัมพันธ์มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อไม่ให้ประชาชนเสียโอกาสในการได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลตามสิทธิที่พึงจะได้รับ