กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และหน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัยแบบบูรณาการสำหรับประเทศไทย" เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัย และยกระดับการพัฒนาระบบการประเมินความเสี่ยงให้มีมาตรฐานตามหลักสากล ตลอดจนเกิดเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพการประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศไทย นับเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างประเทศไทยให้รู้รับ ปรับตัว และฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็วและยั่งยืน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (German International Cooperation : GIZ) และหน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัยแบบบูรณาการสำหรับประเทศไทย" ระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร โดยมีบุคลากรกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัย รวมกว่า 130 คน เข้าร่วมการสัมมนาฯ ในรูปแบบการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัยและการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าวดำเนินงานภายใต้การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) หุ้นส่วนความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาศักยภาพการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่ยั่งยืนของประเทศไทย ระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการภัยพิบัติเชิงรุก ตามยุทธศาสตร์การมุ่งเน้นการลด ความเสี่ยงจากสาธารณภัย ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 รวมถึงเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัย และยกระดับการพัฒนาระบบการประเมินความเสี่ยงให้มีมาตรฐานตามหลักสากล ตลอดจนเกิดเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพการประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศไทย และนำไปสู่การผลักดันการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศที่เน้นมิติด้านความปลอดภัย โดยใช้กลไกการประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัยเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง (ใหม่) และลดความเสี่ยง (เดิม) นับเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างประเทศไทยให้รู้รับ ปรับตัว และฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็วและยั่งยืน