กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น โดยเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่53.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูปผันผวน โดย น้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมัน
· Reuters รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย ในเดือน ธ.ค. 59 ลดลง 0.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนมา อยู่ที่ 7.81 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบีย นายKhalid al-Falih คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเดือน ม.ค. 60 จะอยู่ที่ระดับ 9.0-9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· วันที่ 22 ม.ค. 60 ที่ประชุมของกลุ่มประเทศ OPEC และ Non-OPEC มีมติจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Technical Joint Committee: JTC) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและรวบรวมข้อมูลปริมาณการผลิต เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบในวันที่ 17 ของทุกเดือน
· Bloomberg รายงานเหตุเพลิงไหม้ที่แหล่ง Sarir (220,000 บาร์เรลต่อวัน) ของลิเบีย ในวันที่ 24 ม.ค. 60 ขณะผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 153,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง 60,000 บาร์เรลต่อวัน และปริมาณการผลิตของประเทศ อยู่ที่ 700,000 บาร์เรลต่อวัน
· จีนนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ธ.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.6 % อยู่ที่ 8.89 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้นำเข้าจากรัสเซีย 1.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน และนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย 0.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดย โรงกลั่นเอกชนในจีน (Independent Refineries) นิยมน้ำมันดิบรัสเซีย เพราะมีความยืดหยุ่นด้านเงื่อนไขสัญญาและการปฏิบัติการมากกว่า
ปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน
· นาย Donald Trump ลงนามคำสั่งประธานาธิบดี อนุมัติให้สร้างท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone XL และDakota Access เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตในแคนาดาและรัฐ North Dakota ลำเลียงน้ำมันดิบไปสู่โรงกลั่นน้ำมันในบริเวณฝั่งอ่าวเม็กซิโก (Gulf Coast) ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
· สำนักงานสารสนเทศทางพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน2.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 488.3 ล้านบาร์เรล
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 15 แท่น มาอยู่ที่ 566 แท่น มากสุดตั้งแต่ พ.ย. 58
· สำนักงานสารสนเทศทางพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) คาดว่าปริมาณการผลิต Shale Oil จากแหล่ง Permian Basin ในเดือน ก.พ. 60 จะเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อนหน้า 50,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 2.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ปรับลดลงหลังนักลงทุนกังวลต่อการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตอบสนองต่อระดับราคาที่เหนือจุดคุ้มทุน ดังที่ EIA คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นจาก 8.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนธ.ค. 59 สู่ 9.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเม.ย. 60 และเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึง 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย. 60 อาทิ บริษัท Continental Resources มีงบประมาณการลงทุนในปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากปีก่อนมาอยู่ที่ 1.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกว่า 90% ของงบประมาณถูกใช้เพื่อการขุดเจาะและก่อสร้างหลุมผลิต ขณะที่ อิหร่านยังหาลูกค้าเพื่อรักษาระดับปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบและ Condensate ให้เป็นไปตามเป้าหมาย จากกำหนดการส่งมอบในเดือน ก.พ. 60 พบว่าอินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์ นำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านเป็นครั้งแรกหลังมาตรการคว่ำบาตรยุติลง ขณะที่อิตาลีและสเปนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ในอดีตเริ่มกลับมานำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ Reuters คาดการณ์ว่าในเดือน ก.พ. 60 เป็นต้นไป บริษัทประกันภัยเรือทั่วโลกจะกลับมาคุ้มครองการส่งออกน้ำมันดิบอิหร่านเต็มรูปแบบ เนื่องจากสามารถทำสัญญาคุ้มครองการเอาประกันภัยต่อ (Reissurance) จากบริษัทที่ไม่มีภูมิลำเนาในสหรัฐฯ ประกอบกับกลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) สัญญาน้ำมันดิบ WTIในตลาด ICE และตลาด NYMEX สู่ระดับสูงสุดตั้งแต่ มิ.ย. 57 ทำให้เกิดความวิตกว่าอาจเกิดการเทขายทำกำไรในระยะอันใกล้นี้ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ53.5-57.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 51.5-55.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ 52-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับลดลง จาก Platts รายงานสำนักสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินในเดือน ธ.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.6 % อยู่ที่ 95.5 ล้านบาร์เรล และในปี 59 ผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.4 % อยู่ที่ 1,099 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ Plattsคาดอุปสงค์น้ำมันเบนซินในเอเชียอาจเริ่มชะลอตัว หลังช่วงหยุดเทศกาลตรุษจีน กอปรกับ Pertaminaบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย จะนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน ก.พ. 60 ราว 8-9 ล้านบาร์เรล ชะลอลงจากเดือน ม.ค. 60 ที่ระดับ 11.1 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 253.2 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคตะวันออกกลางจะตึงตัวต่อเนื่อง เพราะโรงกลั่นน้ำมัน Ruwais (840,000 บาร์เรลต่อบาร์เรล) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้มากกว่าที่ประเมินไว้เบื้องต้น ต้องใช้เวลานานในการซ่อมแซมจึงต้องนำเข้าจากอินเดีย ขณะที่โรงกลั่นในอินเดียกำลังจะเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงระหว่าง ก.พ.- เม.ย. 60 ประกอบกับ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25ม.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.12 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.71 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ม.ค. 60ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.23 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.53 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น จาก Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ของอินโดนีเซีย โดยคาดว่าในเดือน ม.ค. 60 Pertamina ของอินโดนีเซียจะนำเข้าราว 1.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่น Balikpapan (260,000 บาร์เรลต่อบาร์เรล) หยุดดำเนินการฉุกเฉินเพราะขัดข้องทางเทคนิค นอกจากนี้ โรงกลั่น Balongan (125,000 บาร์เรลต่อบาร์เรล) ยังอยู่ระหว่างการปิดซ่อมบำรุง ระหว่างวันที่ 23 ม.ค.- 23 ก.พ. 60 นอกจากนี้ National Iranian Oil Company (NIOC) ของอิหร่านอาจหยุดส่งออก High Sulphur Gasoil ชั่วคราวในช่วงไตรมาสที่ 1/60 เนื่องจากความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อิหร่านกลับมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดีเซล หลังจากยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเมื่อต้นปี 2559 โดยทั่วไปส่งออกราว 2.2 ล้านบาร์เรล ต่อเดือน ด้าน PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ม.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.01 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.76 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25ม.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.18 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.14 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล