กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง และปัตตานี ซึ่งในช่วงวันที่ 28 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2560 ภาคใต้จะมีฝนลดลง บกปภ.ช. จึงได้ประสานให้จังหวัดเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล โดยให้คำนึงถึงการสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง พร้อมบูรณาการเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่มีอุปสรรคต่อการระบายน้ำ เน้นย้ำจังหวัดวางมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสมและครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะบ้านเรือนที่เสียหายให้ตรวจสอบข้อมูลเชิงพื้นที่ ช่วยเหลือบ้านเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องเป็นลำดับแรก รวมถึงตรวจสอบถุงยังชีพให้มีคุณภาพ และวางแผนแจกจ่ายอย่างทั่วถึง ตลอดจนตรวจสอบข้อมูลความเสียหายและจัดทำประมาณการวงเงินงบประมาณส่งให้ บกปภ.ช.เสนอเป็นข้อมูลให้รัฐบาลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) 14 ส่วนงานเข้าร่วมประชุมฯ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 7 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพรประจวบคีรีขันธ์ ยะลา และนราธิวาส ยังคงมีสถานการณ์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง และปัตตานี รวม 9 อำเภอ 71 ตำบล 452 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 38,668 ครัวเรือน 123,981 คน ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 28 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2560 ในภาพรวมภาคใต้มีฝนลดลงและไม่มีฝนตกหนักระยะนี้ และปริมาณฝนบางพื้นที่น้อยกว่า 10 มิลลิเมตรต่อวัน บกปภ.ช. จึงได้ประสานให้จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใช้ช่วงเวลานี้ในการเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล โดยให้คำนึงถึงปริมาณการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ พร้อมสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ขอให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่บูรณาการ การเคลื่อนย้ายกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์จากพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายไปประจำจุดที่สถานการณ์ยังวิกฤต โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำหรือสันดอนกลางน้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ และจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช. เปิดเผยว่า ระยะนี้สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ บกปภ.ช.ประสานจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อวางมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเหมาะสม ครอบคลุมทั้งด้านชีวิต ความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค และสิ่งสาธารณประโยชน์ ซึ่งจากการสำรวจในเบื้องต้นมีบ้านเรือนเสียหาย 11,555 หลัง แยกเป็น เสียหายทั้งหลัง (โครงสร้างเสียหายมากกว่าร้อยละ 70) จำนวน 284 หลัง เสียหายบางส่วนเล็กน้อยถึงมาก (โครงสร้างเสียหายต่ำกว่าร้อยละ 70) จำนวน 11,271 หลัง จึงขอให้จังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ โดยบ้านเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายให้เร่งช่วยเหลือทันที ทั้งการจ่ายเงินเยียวยา และประสานหน่วยทหารเข้าซ่อมแซม ส่วนบ้านเรือนที่ยังมีประเด็นทางกฎหมาย ให้ยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยจ่ายเงินทดรองราชการ ไม่เกินหลังละ 33,000 บาท พร้อมตรวจสอบการจ่ายเงินช่วยเหลือไม่ให้ซ้ำซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ขอให้จังหวัดตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดและพิจารณาการช่วยเหลือเป็นกรณีไป อีกทั้งให้จังหวัดตรวจสอบสิ่งของที่บรรจุในถุงยังชีพให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน และวางแผนแจกจ่ายให้ทั่วถึง โดยทุกครัวเรือนที่ประสบภัยทุกสัญชาติ ต้องได้รับการช่วยเหลือด้านการดำรงชีพ ทั้งที่อาศัยในบ้านเรือน จุดอพยพ และศูนย์พักพิง สำหรับสิ่งของบริจาคของภาคเอกชนให้จังหวัดกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการแจกจ่าย เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน นอกจากนี้ ขอให้จังหวัดตรวจสอบข้อมูลความเสียหายทุกด้านอย่างละเอียด และจัดทำประมาณการวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้ในการช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย พร้อมส่งให้ บกปภ.ช.รวบรวม เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้รัฐบาลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการจัดหาแหล่งงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีทั้งงบปกติของส่วนราชการ งบพิเศษเชิงนโยบายของรัฐบาล งบกลางซึ่งเป็นเงินทดรองราชการของจังหวัด และเงินบริจาค ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่เกิดภัย หากการดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จังหวัดสามารถขอขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีอำนาจอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่จังหวัดได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม หากวงเงินทดรองราชการของจังหวัดไม่เพียงพอ จังหวัดสามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมจากกระทรวงการคลังได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม