กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และพัทลุง ซึ่งในช่วงวันที่ 29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2560 ภาคใต้จะมีฝนลดลง บกปภ.ช. จึงได้ประสานให้จังหวัดเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล รวมถึงดำเนินการสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้อง ครบถ้วน และครอบคลุมทั้งด้าน โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ให้ตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ช่วยเหลือบ้านเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องเป็นลำดับแรก ส่วนบ้านเรือนที่ยังเป็นประเด็นทางกฎหมาย ให้จังหวัดกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเป็นกรณีไป อีกทั้งให้ระบุจำนวนครัวเรือนที่ต้องการขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม สำหรับเป็นข้อมูลในการวางแผนการช่วยเหลือและสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) 14 ส่วนงานเข้าร่วมประชุมฯ ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 8 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพรประจวบคีรีขันธ์ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ยังคงมีสถานการณ์ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และพัทลุง รวม 8 อำเภอ 49 ตำบล 395 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 34,919 ครัวเรือน 104,350 คน ซึ่งจากการติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2560 ในภาพรวมภาคใต้มีฝนลดลงและไม่มีฝนตกหนักในระยะนี้ บกปภ.ช. จึงได้ประสานให้จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล โดยให้คำนึงถึงปริมาณการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ขอให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่บูรณาการการเคลื่อนย้ายกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์จากพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายไปประจำจุดที่สถานการณ์ยังวิกฤต โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำหรือสันดอนกลางน้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ และจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช. เปิดเผยว่า ระยะนี้สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ บกปภ.ช.ประสานจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหาย ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และครอบคลุมทั้งด้านชีวิต ความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค และสิ่งสาธารณประโยชน์ ซึ่งจากการสำรวจในเบื้องต้นมีบ้านเรือนเสียหาย 11,555 หลัง แยกเป็น เสียหายทั้งหลัง (โครงสร้างเสียหายมากกว่าร้อยละ 70) จำนวน 284 หลัง เสียหายบางส่วนเล็กน้อยถึงมาก (โครงสร้างเสียหายต่ำกว่าร้อยละ 70) จำนวน 11,271 หลัง จึงขอให้จังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ พร้อมตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยแยกเป็นบ้านเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ดำเนินการช่วยเหลือทันที ส่วนบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในที่ดินที่เป็นประเด็นทางกฎหมาย ให้จังหวัดกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเป็นกรณีไป อีกทั้งให้ระบุจำนวนครัวเรือนที่จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการช่วยเหลือแล้ว และจำนวนครัวเรือนที่ต้องขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม สำหรับเป็นข้อมูลให้หน่วยทหารบูรณาการนักศึกษาอาชีวศึกษา และเครือข่ายช่างในพื้นที่ วางแผนการช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง รวมถึงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ขอให้จังหวัดตรวจสอบข้อมูลความเสียหายทุกด้านอย่างละเอียด และจัดทำประมาณการวงเงินงบประมาณที่ต้องใช้ในการช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย พร้อมส่งให้ บกปภ.ช.รวบรวม เพื่อนำเสนอเป็นข้อมูลให้รัฐบาลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการจัดหาแหล่งงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีทั้งงบปกติของส่วนราชการ งบพิเศษเชิงนโยบายของรัฐบาล งบกลางซึ่งเป็นเงินทดรองราชการของจังหวัด และเงินบริจาค ที่สำคัญ ขอให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างเคร่งครัด ซึ่งได้มีการยกเว้นให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานอื่นๆ ที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่สามารถใช้เงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดได้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น