กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ โดยปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และพัทลุง รวม 8 อำเภอ 59 ตำบล 395 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,919 ครัวเรือน 104,350 คน ในช่วงวันที่ 3 – 4 กุมภาพันธ์ 2560 จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง บกปภ.ช. จึงได้ประสานให้จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล รวมถึงปรับแผนการดำเนินงานจากการจัดการในภาวะฉุกเฉินเข้าสู่กระบวนการเยียวยาผู้ประสบภัยและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมเร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อวางมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสมและครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีพ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และการประกอบอาชีพ
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยเข้าร่วมประชุมฯ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมคลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 8 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ยังคงมีสถานการณ์ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และพัทลุง รวม 8 อำเภอ 59 ตำบล 395 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 33,919 ครัวเรือน 104,350 คน ซึ่งจากการติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ภาคใต้ตอนล่างมีฝนน้อย ร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ และในช่วงวันที่ 3 – 4 กุมภาพันธ์ 2560 จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง บกปภ.ช. จึงได้ประสานให้จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล ควบคู่กับการสำรองน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงบูรณาการการเคลื่อนย้ายกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์จากพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายไปประจำจุดที่สถานการณ์ยังวิกฤต โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำหรือสันดอนกลางน้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำและจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
นายชยพล กล่าวต่อไปว่า ระยะนี้สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่ บกปภ.ช. จึงได้ปรับแผนการดำเนินงานจากการจัดการในภาวะฉุกเฉินเข้าสู่กระบวนการเยียวยาผู้ประสบภัยและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ บกปภ.ช.ประสานจังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อวางมาตรการให้การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสมและครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีพ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การประกอบอาชีพ (เกษตรประมง ปศุสัตว์) โดยด้านชีวิต มีผู้เสียชีวิตรวม 95 ราย จ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว 93 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 1 ราย และอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล 1 ราย ด้านที่อยู่อาศัย จากการสำรวจในเบื้องต้นมีบ้านเรือนเสียหาย 11,555 หลัง แยกเป็น เสียหายทั้งหลัง (โครงสร้างเสียหายมากกว่าร้อยละ 70) จำนวน 284 หลัง เสียหายมาก (โครงสร้างเสียหายร้อยละ 30 - 70) จำนวน 716 หลัง เสียหายน้อย (โครงสร้างเสียหายต่ำกว่าร้อยละ 30) จำนวน 10,555 หลัง จึงขอให้จังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ พร้อมตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยแยกเป็นบ้านเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายให้ดำเนินการช่วยเหลือทันที ส่วนบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในที่ดินที่เป็นประเด็นทางกฎหมาย ให้จังหวัดกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม อีกทั้งให้ระบุจำนวนครัวเรือนที่จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการช่วยเหลือแล้ว และจำนวนครัวเรือนที่ต้องขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม สำหรับเป็นข้อมูลให้หน่วยทหารบูรณาการนักศึกษาอาชีวศึกษา และเครือข่ายช่างในพื้นที่วางแผนการช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง รวมถึงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ บกปภ.ช. ได้ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูล การช่วยเหลือผู้ประสบภัย แผนการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมระบุกิจกรรม งบประมาณ และหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน เพื่อ บกปภ.ช. จะได้รวบรวมข้อมูลในภาพรวมของการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดมาตรการฟื้นฟูและจัดสรรงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป