อย. หนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ โฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกกฎหมายเข้าถึงผู้บริโภค

ข่าวทั่วไป Wednesday August 29, 2001 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--อย.
อย. ระดมสมองผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ หาแนวทางกระตุ้นธุรกิจโดยใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซให้ถูกกฎหมาย เพื่อลดต้นทุนประกอบการ และประโยชน์ของผู้บริโภค
น.พ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวในงานสัมมนา "ทิศทางอี-คอมเมิร์ซ กับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ" ซึ่งจัดร่วมกันระหว่าง อย., ศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวานนี้ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เริ่มเข้ามาใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางใหม่ในการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะการโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปสู่การซื้อขายต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ อย. ต้องเพิ่มบทบาทกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย ตามกฎหมายที่อยู่ภายใต้การดูแลของ อย. ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ผลิตภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ กลุ่มที่ 2 ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา ได้แก่ เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย (อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค) และกลุ่มที่ 3 ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาได้เฉพาะต่อผู้ประกอบโรคศิลป์ฯ เท่านั้น ได้แก่ วัตถุออกฤทธิ์ และยาเสพติดให้โทษ โดยในช่วงปีงบประมาณ 2542-2544 อย. ได้ดำเนินการต่อผู้ฝ่าฝืนการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตจากเว็บไซต์ต่างทั้งสิ้น 44 แห่งแบ่งเป็น 1. ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอาง 31 แห่ง มีสินค้าจำนวน 230 รายการ 2. กลุ่มยา 10 แห่ง มีสินค้า 39 รายการ 3. กลุ่มอาหาร 10 แห่ง มีสินค้ารวม 500 รายการ และ 4. กลุ่มเครื่องมือแพทย์ 3 แห่ง มีสินค้า 180 รายการ
ขณะนี้ อย. กำลังอยู่ระหว่างการวางหลักเกณฑ์สำหรับการโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต โดยส่วนหนึ่งจะนำความเห็นของผู้ประกอบการมาร่วมพิจารณา เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน และตรงกับความเป็นจริงที่สุด ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็จะมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
ทางด้านนายทวีศักดิ์ สีทองสุรภณา ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์กล่าวว่า สมาคมฯ อยากให้ อย. กำหนดกรอบและแนวทางที่ชัดเจนของการทำธุรกรรมผ่านอีคอมเมิร์ซ ทั้งในส่วนของการจำหน่าย และการโฆษณา โดยการจำหน่ายนั้น ปัจจุบันผู้ประกอบการทำไปบ้างแล้วในระดับบีทูบี ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลโดยตรงระหว่างบริษัทผู้ผลิตยา โรงพยาบาล ร้านขายยา หรือช่องทางค้าส่งอื่นๆ ซึ่งในบางส่วนมองว่าน่าจะขยายไปขายในระดับผู้บริโภคได้ ส่วนการโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น อยากให้ อย. กำหนดเลยว่าต้องลงโฆษณาอย่างไร ซึ่งเท่าที่มองอยู่ เห็นว่าสามารถดัดแปลงวิธีการที่ใช้กับเครื่องสำอางมาใช้ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตก่อน และ อย. มีการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับการโฆษณาเกินจริง หรือผู้ประกอบการที่ทำผิดจรรยาบรรณไว้เลย
"สิ่งที่เรากังวลอยู่ตอนนี้คือ หากยังไม่มีมาตรฐานชัดเจน ผู้ประกอบการที่ทำถูกกฎหมาย ก็อาจเสียเปรียบรายที่ทำผิดกฎหมาย ขณะที่หาก อย. วางมาตรการชัดเจนไว้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็พร้อมทำตามอยู่แล้ว" นายทวีศักดิ์ กล่าว
ทางด้านนายปราโมทย์ พงษ์ทอง ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) กล่าวว่า ควรมีการรวมกลุ่มระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งผู้ผลิต ร้านขายยา องค์กรที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงอาจารย์จากสถาบันที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดตั้งเว็บไซต์กลางที่สามารถใช้เป็นช่องทางทั้งด้านการค้าและการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค โดยควรเป็นการรวมตัวในลักษณะของ "อาสาสมัคร" และไม่มีการผูกขาดหรือบังคับผู้จะเข้าร่วมกับเว็บไซต์แห่งนี้ รวมถึงมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่องค์กรกลางเพื่อคอยกลั่นกรองข้อมูลที่จะใส่ไว้ในเว็บไซต์ และในระยะต่อไปอาจมีการเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ที่ถูกกฎหมายของผู้ประกอบการรายอื่นด้วย ซึ่งหากทำได้จริง ช่องทางนี้จะเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ และมีคุณภาพ ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้บริโภคได้ด้วย รวมถึงสามารถถ่วงดุลกับเว็บไซต์ผิดกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งเท่ากับเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคได้ในขณะเดียวกัน --จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ