กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ซีพีเอฟ
CPF เดินหน้ากิจกรรมแรกใน "โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" เพื่อร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำกว่า 4,000 ไร่ ครั้งนี้ร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาชนและซีพีเอฟจิตอาสากว่า 300 ชีวิต ลงพื้นที่เพาะกล้าไม้ สร้างฝายชะลอน้ำ ตั้งเป้าเตรียมกล้าไม้ 4 แสนต้นเพื่อใช้ปลูกภายในปี 2560
นายนพดล ศิริจงดี ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์รักษ์นิเวศ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทสนับสนุนนโยบายภาครัฐด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนสานต่อภารกิจความยั่งยืนของซีพีเอฟ ในเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม "ดิน น้ำ ป่า คงอยู่" ที่มีความมุ่งมั่นในการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่ายุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซีพีเอฟ จึงได้ร่วมกับกรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และเครือข่ายภาคประชาสังคม ดำเนิน "โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" จำนวน 4,421 ไร่ ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ระหว่างปี 2559 – 2564 พร้อมทั้งเตรียมนำพื้นที่ดังกล่าวเป็นโมเดลนำร่องโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน
โดยซีพีเอฟได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน ร่วมด้วยกรมป่าไม้และภาคเครือข่าย โดยได้กำหนดกิจกรรมที่สอดคล้องตามกรอบแผนงาน ฤดูกาล สู่การขับเคลื่อนกิจกรรมแรกของปี 2560 นี้ ด้วยกิจกรรม "การทำฝาย การเพาะกล้า และการดูแลกำจัดวัชพืช" โดยมีเป้าหมายทำฝาย 4 ตัว เพื่อเตรียมการชะลอน้ำในฤดูฝนที่จะมาถึง การดูแลกำจัดวัชพืชและคลุมฟาง 50 ไร่ เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้ที่ปลูกใหม่ และการเพาะกล้าไม้จำนวน 30,000 ต้น เพื่อเตรียมการปลูกในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคประชาชนและพนักงานซีพีเอฟจากสายธุรกิจต่างๆ จำนวนรวมกว่า 300 คน เพื่อจัดเตรียมกล้าไม้ส่วนหนึ่ง จากเป้าหมายการเตรียมกล้าทั้งหมด 4 แสนต้นในปี 2560
ทั้งนี้ "โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" ภายใต้ โครงการเขาพระยาเดินธง ศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดลพบุรี มีการวางเป้าหมายการดำเนินงาน 4 ด้าน ดังนี้ 1) ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำในลุ่มน้ำป่าสักพื้นที่เขาพระยาเดินธง จำนวน 4,421,ไร่ 2) ติดตามและวัดผลความหลากหลายทางชีวภาพของ พืช และสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น 3) ร่วมลดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากจำนวน CO2 ที่ต้นไม้กักเก็บ และการให้บริการระบบนิเวศของต้นไม้ และ 4) พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบด้านการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ของชาติ