กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กรมสุขภาพจิต
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าปัจจุบันสถานการณ์วิฤตทั้งจากภัยธรรมชาติและจากน้ำมือมนุษย์ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันรุนแรงและเป็นเรื่องที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนซึ่งสร้างความเสียหายแก่ชีวิตทรัพย์สินและชุมชนอย่างมากมายทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตติดตามมายิ่งบุคคลได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โดยตรงเช่นอยู่ในเหตุการณ์หรือมีบุคคลในครอบครัวประสบเหตุโอกาสที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาก็ยิ่งสูงขึ้นส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเช่นการตกงานหรือการสูญเสียทรัพย์สินเครื่องมือทำมาหากินและอาชีพหรือธุรกิจอันเนื่องจากเหตุการณ์ ย่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตเช่นกันอย่างไรก็ตาม เมื่อประสบสถานการณ์วิกฤต ย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเกิดปฏิกิริยาต่างๆ ดังนี้ ด้านอารมณ์ เช่น ช็อคโกรธสิ้นหวังหวาดกลัวเศร้าโศกเสียใจหงุดหงิด ด้านความคิด เช่น ไม่มีสมาธิความจำไม่ดีสับสนตำหนิตัวเองวิตกกังวล ด้านร่างกาย เช่นปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ท้ายทอย ใจสั่น นอนไม่หลับ ตื่นเต้นตกใจง่าย และด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่นแยกตัวขัดแย้งกับคนใกล้ชิดทำงานไม่ได้เรียนไม่ได้การเรียนตกต่ำเป็นต้น เหล่านี้ ถือเป็นการตอบสนองตามปกติที่เกิดขึ้นและจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปเมื่อเวลาผ่านไป
ในภาวะวิกฤต ประชาชนจะติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็ต้องรายงานข่าวที่ทันการณ์ การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างถูกต้องเหมาะสมทันท่วงทีและให้ข้อมูลที่รอบด้านจึงย่อมช่วยลดความตื่นตระหนกของประชาชนลงได้โดยสามารถนำเสนอข่าวด้วยหลัก "4 ต้อง 4 ไม่"ดังนี้ "4 ต้อง" ได้แก่ 1.ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและจำเพาะกับประชาชน เพื่อประชาชน/ชุมชนจะได้ไม่แตกตื่น เช่น พื้นที่ส่วนไหนกำลังมีปัญหาหรือเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเตรียมตัว 2.ต้องให้คำแนะนำที่ตรงกับปัญหา เพื่อให้ประชาชน/ชุมชน ได้มีสติทำในสิ่งที่ต้องทำมากกว่ามัวตื่นตระหนกหรือโกรธแค้น เช่น การเตรียมรับมือ การเตรียมอพยพ เป็นต้น 3.ต้องแสดงตัวอย่างของความสำเร็จในการเผชิญปัญหา เพื่อช่วยให้มีความหวังและเรียนรู้ที่จะปรับปรุงการแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับบุคคลและชุมชนสำหรับการเตรียมการรับมือและการแก้ไขปัญหาต่างๆและ4.ต้องบอกแหล่งให้ความช่วยเหลือตามความต้องการ เพื่อให้ประชาชน/ชุมชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่จำเพาะและตรงความต้องการได้"4 ไม่" ได้แก่ 1.ไม่ขยายความขัดแย้ง 2.ไม่นำเสนอภาพความน่ากลัวหรือรุนแรงซ้ำๆ เพราะจะสร้างความตระหนกและขาดสติ 3.ไม่สื่อสารภาพการสูญเสีย สิ้นหวัง ทำร้ายตนเอง หรือด่วนสรุปว่าการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายมาจากภัยพิบัติ เพราะจะยิ่งทำให้กลุ่มเปราะบางเกิดการคล้อยตามหรือเลียนแบบได้ และ 4.ไม่ซักถามเรื่องความสูญเสียจากผู้ที่ยังไม่พร้อมจะเล่า เพราะเป็นการซ้ำเติมบาดแผลทางใจที่สำคัญ อย่าลืมดูแลกายและใจของตัวเองให้ดีเพราะการติดตามทำข่าวแต่ละครั้งอาจได้รับความเครียดและความทุกข์ได้มาก แม้ว่าจะมีประสบการณ์สูงแล้วก็ตาม จึงอย่าลืมพูดคุย ระบายกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อน คนในครอบครัว หรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจ
สำหรับประชาชน ชุมชน และสังคม อธิบดีกรมสุขภาพจิต ย้ำว่า ทุกคนสามารถช่วยเหลือดูแลจิตใจกันและกันได้ โดยใช้หลัก 3ส หรือ 3L ได้แก่ สอดส่องมองหา (Look) ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น เศร้าโศกเสียใจรุนแรง กินไม่ได้นอนไม่หลับ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช ใส่ใจ รับฟัง (Listen) อย่างตั้งใจ จับมือ โอบกอด ช่วยให้ผู้สูญเสียบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึก คลายความทุกข์ในใจ และ ส่งต่อเชื่อมโยง (Link) ให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นพื้นฐาน น้ำ อาหาร ยา หากไม่ดีขึ้น ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โศกเศร้ารุนแรง มีความคิดฆ่าตัวตาย ให้พยายามติดต่อครอบครัวหรือชุมชนให้ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตก่อนที่จะส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
"การอาศัยความผูกพันที่มีอยู่ในระบบครอบครัวและชุมชน หรือใช้พลัง อสม. และผู้นำชุมชนในการดูแลและจัดการกับปัญหาต่างๆ ก้าวข้ามอุปสรรคอย่างมีความหวัง ให้กำลังใจกันและกันในชุมชน จัดระบบความช่วยเหลือที่มาจากภายนอกให้ทั่วถึงและเป็นธรรม รวมพลังในการฟื้นฟูชุมชน ทั้งหมดนี้ จะทำให้ผ่านวิกฤตด้วยความเข้มแข้งมากขึ้น สามารถลดปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาสังคมที่จะตามมาได้"อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว