กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--ซีเคร็ท คอมมูนิเคชั่นส์
มนุษย์รับประทานอาหารอย่างหลากหลาย นอกจากพืชแล้ว ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่เป็นอาหารของมนุษย์ รวมทั้งแมลงบางชนิดที่มนุษย์นำมาเป็นอาหารสืบทอดกันมาตั้งแต่ในอดีต โดยแมลงกินได้มีมากกว่า 1,400 ชนิด ซึ่งประเทศที่นิยมการกินแมลง ได้แก่ ประเทศทางแถบทวีปแอฟริกา อเมริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และยุโรป และจากการศึกษาจพบว่า แมลงหลายชนิดมีโภชนาการสูง อาทิ ไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต สามารถเป็นอาหารทดแทนให้กับคนท้องถิ่นที่อยู่ในชนบทหรือชุมชนที่ขาดแคลนอาหารได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ แมลงหลายชนิดยังมีแร่ธาตุต่างๆ ได้แก่ โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก วิตามินบี วิตามินซี ดังนั้นประชาชนที่อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารอย่าง ภาคอีสาน ก็มักจะนำแมลง อาทิ จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงกระซอน มาประกอบอาหารหลากหลายเมนูตามท้องถิ่น และรับประทานแทนเนื้อสัตว์เพื่อยังชีพ
น้องพีท-อรณ ยนตรรักษ์ นักเรียนโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ กล่าวว่า ผมกับพี่สาวมีโอกาสทำกิจกรรมจิตอาสากับเพื่อนๆ ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือเด็กๆ ในถิ่นทุรกันดารของภาคอีสาน ทำให้พี่สาวและผมได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมบริโภคแมลงเป็นอาหาร และเด็กๆ ก็มีสุขภาพที่แข็งแรงมาก ทำให้พี่สาวผมเกิดแรงบันดาลใจในการคิดค้นงานวิจัยแมลงกินได้ เพื่อให้ความรู้กับเด็กๆ และประชาชนว่าแมลงแต่ละชนิดมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ซึ่งถือเป็นผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อประเทศมาก เพราะนอกจากจะนำมาเป็นอาหารแล้ว แมลงยังสามารถนำมาขายสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกด้วย
ดังนั้นผมจึงเกิดแรงบันดาลใจอยากจะสานต่อผลงานวิจัยแมลงกินได้ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้ชุมชนอยู่อย่างพอเพียง และสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง หลังจากที่ริเริ่มโครงการอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนยากจนหลายแห่งในภาคอีสาน และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผมจึงเริ่มต่อยอดโครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด และส่งเสริมการแปรรูปจิ้งหรีดเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าอื่นๆ เพื่อสอนให้เด็กๆ และชาวบ้านเห็นคุณค่า และรู้จักใช้แหล่งทรัพยากรตามธรรมชาติรอบตัวที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดและยั่งยืน สามารถสร้างรายได้เป็นอาชีพเสริมแก่ชุมชนภาคอีสาน
น้องพีท-อรณ ยนตรรักษ์ เล่าต่อว่า "จิ้งหรีด" ถือเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่มีโปรตีนสูงและชาวบ้านนิยมบริโภค โดยมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญทดแทนเนื้อหมู วัว ไก่ ได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องซื้อหา ซึ่งในการวิจัยและดำเนินงานครั้งนี้ เราได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยส่งจิ้งหรีดสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ จากจิ้งหรีดไปตรวจหาคุณค่าทางโภชนาการ จิ้งหรีดสามารถเพาะเลี้ยงได้ง่าย เติบโตเร็ว การเพาะเลี้ยงแต่ละครั้งใช้เวลาเพียง 40 - 50 วัน สามารถเลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้าน อาหารของจิ้งหรีดก็สามารถหาได้ตามท้องถิ่น อาทิ มะละกอ แตงโม ผักกาดขาว และใบกะหล่ำ โดยจิ้งหรีดสดสามารถขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท จิ้งหรีดทอดกิโลกรัมละ 250 -300 บาท ดังนั้นการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดจึงถือเป็นการดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเลี้ยงและพึ่งพาตนเองได้ในท้องถิ่นบ้านเกิด ไม่ต้องอพยพไปหางานทำหารายได้เลี้ยงครอบครัวในเมืองใหญ่ ทำให้ต้องทิ้งลูกๆ ไว้ลำพังกับปู่ย่าตายายที่ไม่สามารถดูแลเด็กได้ทั่วถึง ทำให้เด็กๆ ต่างจังหวัดขาดการดูแลจากพ่อแม่และเกิดปัญหาทางสังคมตามมาอย่างมากมาย โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ คือ โรงเรียนบ้านซับใต้ โรงเรียนบ้านโนนรัง โรงเรียนบ้านหนองไม้ตาย โรงเรียนบ้านวังโรงใหญ่สามัคคี โรงเรียนบ้านหนองกก และหมู่บ้านใกล้เคียงใน จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น
ด้าน นายธนะชัย เชาว์พลกรัง ครูโรงเรียนบ้านหนองไม้ตาย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 4กล่าวว่า โรงเรียนบ้านหนองไม้ตายนั้น เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ผู้ปกครองมีฐานะยากจน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างรายวัน จากสภาพปัญหาข้างต้นน้องพีทและพี่สาวได้เข้ามาช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไม้ตายตั้งแต่ปี 2555 โดยการริเริ่มโครงการอาหารกลางวัน ต่อด้วยริเริ่มให้มีการเลี้ยงจิ้งหรีดตั้งแต่ต้นปี 2558 จนถึงปัจจุบันเพื่อเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคต จากกิจกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่ออาหารกลางวันของนักเรียน ทำให้นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไม้ตายทุกคนได้มีอาหารไว้รับประทานอย่างเพียงพอ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับนักเรียนระหว่างเรียนด้วย เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดเป็นน้ำพริกจิ้งหรีด จิ้งหรีดคั่วเกลือ จิ้งหรีดอบแห้ง จิ้งหรีดคั่วสมุนไพร ข้าวพองจิ้งหรีด เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่จัดทำขึ้นสามารถเก็บไว้รับประทาน จำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ และส่งเสริมให้เป็นผลิตภัณฑ์ของตำบลบ้านหนองบัวน้อย หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ต่อไป
น้องพีท-อรณ ยนตรรักษ์ กล่าวปิดท้ายว่า จากโครงการดังกล่าวทำให้ผมได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลและโล่เกียรติคุณในฐานะเยาวชนผู้เป็นต้นแบบต่อสังคมดีเด่น ในงานพิธีสืบสานพระราชปณิธานสรรค์สร้างงานเพื่อแผ่นดินตามเบื้องพระยุคลบาท น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมถวายอาลัยในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทำให้ผมภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ดำเนินชีวิตโดยยึดแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน ผมเชื่อว่า ความรู้ สามารถหาได้จากทั้งในตำราในห้องเรียน และการเรียนรู้จริงนอกห้องเรียน การที่เราสามารถนำความรู้ที่มีมาปฏิบัติจริง จนก่อให้เกิดประโยชน์ โดยตรงต่อผู้อื่น ต่อส่วนรวม และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สอนให้เค้าสามารถพึ่งพาตนเองได้นั้นถือว่า เป็นการบรรลุวัตถุประสงค์อย่างแท้จริงของการเรียนรู้ครับ