กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แจงกรณีนายจ้างเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยถึงกรณีการจ่ายค่าชดเชยกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามอายุงานโดยลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ๑๒๐ วัน แต่ไม่ครบ ๑ ปี นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย ๓๐วัน ลูกจ้างที่มีทำงานติดต่อกันครบ ๑ ปี แต่ไม่ครบ ๓ ปี นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย ๙๐ วัน ลูกจ้างที่มีทำงานติดต่อกันครบ ๓ ปี แต่ไม่ครบ ๖ ปี นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย ๑๘๐ วัน ลูกจ้างที่มีทำงานติดต่อกันครบ ๖ ปี แต่ไม่ครบ ๑๐ ปี นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย ๒๔๐ วัน และลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ ๑๐ ปีขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย ๓๐๐ วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายสามารถยื่นคำร้องที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ที่ลูกจ้างปฏิบัติงานได้
รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้นายจ้าง ลูกจ้างให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตามกฎหมายสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขต ๑ - ๑๐ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน ๑๕๔๖