กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--กรมประมง
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการที่กรมประมงประกาศแจ้งให้เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ ที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป หรือเจ้าของเรือประมงพาณิชย์ ที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปที่ใช้เครื่องมือทำการประมงประเภทอวนลาก อวนล้อมจับ และอวนครอบปลากะตัก ที่มีคนต่างด้าวทำงานในเรือประมง ต้องมายื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าว(Seabook) ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2559 – 12 มกราคม 2560 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งได้กำหนดให้คนประจำเรือต้องมีหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และในกรณีคนประจำเรือเป็นคนต่างด้าว ต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และต้องได้รับใบอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวโดยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 13 กันยายน 2559 และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559
โดยในห้วงเวลาที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ม.ค.60) ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการพาแรงงานต่างด้าวมาแจ้งความจำนงค์ในการขอSeabook จำนวน 53,105 ราย ซึ่งยังมีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้มาแจ้งความจำนงค์ตกค้างอยู่อีกจำนวนหนึ่ง เนื่องจากในการขอหนังสือคนประจำเรือจะมีขั้นตอนของการสัมภาษณ์แรงงานโดยต้องใช้ล่ามในแต่ละภาษาซึ่งกระทรวงแรงงานต้องใช้เวลาในการจัดหาล่ามที่มีความชำนาญทางภาษาของแต่ละประเทศ อีกทั้ง ยังพบว่าแรงงานต่างด้าวบางส่วนใบอนุญาตทำงานหมดอายุในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 จึงไม่สามารถมายื่นขอ Seabook ได้ เป็นเหตุให้กรมประมงไม่สามารถออก Seabook ได้ทันตามกำหนดเดิม คือ 12 มกราคม 2560 ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.การประมง 2558 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้ขยายระยะเวลาการขอ Seabook ออกไปอีก 60 วัน กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม – 13 มีนาคม 2560
ทั้งนี้ การมายื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) สำหรับแรงงานต่างด้าว มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
1. ยื่นคำขอ
1.1 ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงหรือผู้ได้รับมอบอำนาจ ต้องมายื่นคำขอ ณ ศูนย์ PIPO / สำนักงานประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล
1.2 กำหนดวันยื่นคำขอ
· วันที่ 13 ม.ค. – 13 มี.ค. 2560 เวลา 08.30 – 15.00 น. (เว้นวันหยุดราชการ)
1.3 ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงหรือผู้ได้รับมอบอำนาจจะต้องกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม พร้อมแนบหลักฐาน ดังนี้
/สำเนา...
· สำเนาใบอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว
· สำเนาใบอนุญาตทำการประมงของเจ้าของเรือ
· สำเนาหนังสือสัญญาจ้างให้ทำงานในเรือประมง
· หนังสือมอบอำนาจของผู้ได้รับใบอนุญาต (กรณีมอบอำนาจ ติดอากรแสตมป์ 10 บาท)
1.4 เจ้าหน้าที่ออกใบแจ้งนัด เพื่อกำหนดให้นำแรงงานมาจัดทำประวัติ และรับคำขอสำหรับแทน
หนังสือคนประจำเรือประมงตามวันและสถานที่ที่กำหนด
(**ทั้งนี้ หากคำขอไม่สมบูรณ์ หลักฐานไม่ครบ ไม่เข้าเงื่อนไข ไม่มีข้อมูลในฐานข้อมูล เจ้าหน้าที่จะคืนคำขอ ส่วนกรณีแรงงานที่มายื่นซ้ำในระบบ จะยึดตามผู้ที่มายื่นรายแรก)
2. จัดทำประวัติแรงงาน
2.1 ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงหรือผู้ได้รับมอบอำนาจจะต้องนำใบนัดพร้อมด้วยแรงงานต่างด้าวมาติดต่อเพื่อจัดทำประวัติ ถ่ายรูป และจัดเก็บลายนิ้วมือ
2.2 ชำระค่าธรรมเนียม 100 บาท/เล่ม พร้อมออกใบเสร็จรับเงิน
2.3 รับใบรับคำขอ (ใช้แทนหนังสือคนประจำเรือชั่วคราว) พร้อมนัดวันรับหนังสือคนประจำเรือเล่มจริง
(**ทั้งนี้ กรณีตรวจสอบตัวตนแรงงานต่างด้าวแล้วมีลักษณะบางประการไม่ตรงกับข้อมูล เช่น ลักษณะใบหน้ากับแรงงานที่มาแสดงตนแตกต่างกัน ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงหรือผู้ได้รับมอบอำนาจจะต้องลงลายมือชื่อเพื่อรับรองยืนยันตัวตน แต่หากพบว่าแตกต่างมากเจ้าหน้าที่จะไม่ออกใบรับคำขอให้)
3. รับหนังสือคนประจำเรือ
3.1 ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงหรือผู้ได้รับมอบอำนาจ พร้อมด้วยแรงงานต่างด้าวจะต้องนำใบรับคำขอมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อรับหนังสือคนประจำเรือ ณ ศูนย์ PIPO / สำนักงานประมงจังหวัดชายทะเล 22 แห่ง ทั้งนี้ หากแรงงานคนดังกล่าวไม่สามารถมารับได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจมาแสดง
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อตัวแรงงานต่างด้าวเอง เพราะแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะมีเอกสารยืนยันตัวตน มีประวัติการทำงานไทย ทำให้ได้โอกาสในการทำงานได้รับการดูแลสวัสดิภาพ ป้องกันนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ นอกจากนี้ นายจ้าง ก็สามารถใช้เอกสารนี้ยืนยันการจ้างงาน ใช้ในการรายงานแรงงานในการแจ้งเรือเข้าออก
ดังนั้น จึงขอความร่วมจากเจ้าของเรือประมงพาณิชย์ที่เข้าข่ายตามที่แจ้งแล้วข้างต้นให้รีบมาดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากพ้นกำหนดถ้าตรวจพบจะมีความผิดตามมาตรา 153 เจ้าของเรือจะต้องระวางโทษปรับไม่น้อยกว่า 4 - 8 แสนบาทต่อคนประจำเรือหนึ่งคน และเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงของเจ้าของเรือด้วย
กรมประมงเชื่อมั่นว่าการจัดทำ Seabook จะช่วยให้แรงงานมีประวัติการทำงานในเรือประมง และเพื่อแสดงให้นานาประเทศได้ประจักษ์ว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งในการขจัดปัญหาการทำประมง IUU และการค้ามนุษย์บนเรือประมง...รองอธิบดีกรมประมง กล่าว