ข้อมูลประกอบการสัมภาษณ์
เรื่อง "แก้วิกฤตเศรษฐกิจไทย…สู่การเร่งส่งออก"
โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรายการกรองสถานการณ์ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 11
วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม 2544
ข้อ 2. ขอย้อนไปที่สภาพเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ เป็นอย่างไร มีส่วนใดที่น่าห่วงบ้าง
แนวคำตอบ
ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว ตามการหดตัวของการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงมากจากที่ขยายตัว ร้อยละ 4.8 ในปีก่อน คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.2 ในปีนี้ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย เศรษฐกิจจะมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 และ 0.6 เท่านั้น
จากสภาพการชะลอตัวดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้จากร้อยละ 4.0 - 4.5 เป็นร้อยละ 3.5 - 4.0 เมื่อเดือนมีนาคม และขณะนี้ได้มีการทบทวนสถานการณ์เศรษฐกิจใหม่ ซึ่งคาดว่าอาจจะมีการปรับลดประมาณการอีกครั้งในเร็
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ มี 2 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ 1. การลดลงของการส่งออก 2. ความล่าช้าในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ
ประการแรก การลดลงของการส่งออก ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.8 มีมูลค่า 16,567 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หากการส่งออกไม่สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากประมาณ 55% ของ GDP มาจากการส่งออก
ประเด็นที่สอง ความล่าช้าของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2544 ซึ่งขณะนี้มีการเบิกจ่ายไปเพียง 49 % เท่านั้น ซึ่งความล่าช้าดังกล่าวจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยตรง
ข้อ 3. ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจบ้านเราขณะนี้ ส่งผลกระทบมากแค่ไหน อย่างไร
แนวคำตอบ
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจบ้านเราขณะนี้เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ นั่นคือ เศรษฐกิจชะลอตัวไปทั่วโลกทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และประเทศในภูมิภาคเอเซีย และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเพราะเราเริ่มจะฟื้นจากวิกฤตที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน และยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจก็ยังมิได้ส่งผลกระทบอะไรมากนัก เพราะ แม้ว่าการส่งออกจะลดลงจนส่งผลต่อเนื่องถึงการลงทุนและการใช้จ่ายของภาคเอกชนชะลอลงบ้าง แต่รายได้จากการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดีและช่วยให้ดุลบัญชีเกินสะพัดยังคงเกินดุล ในส่วนของระดับราคาสินค้านั้น แม้ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นก็มิได้ทำให้ราคาสินค้าขยับขึ้นมากนัก เพราะการแข่งขันในระดับบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ยังมีอยู่สูง จึงทำให้ราคาสินค้ายังคงทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ และรัฐบาลยังดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ในหลายด้าน เช่น การชดเชยราคาน้ำมันให้กับผู้ผลิตในสาขาเกษตร ประมง และขนส่ง ให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยปรับลดราคาน้ำมันขายปลีกลง เพื่อฉุดให้ราคาน้ำมันในตลาดไม่สูงขึ้นเร็วนัก และสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน เช่น เอธานอล และไบโอดีเซล เป็นต้น
ข้อ 4. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญมีอะไรบ้าง กำหนดไว้อย่างไรทั้งระยะสั้นและระยะยาว
แนวคำตอบ
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล มีดังนี้
มาตรการระยะสั้น
1. การเร่งรัดการส่งออก โดยการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ส่งออกหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการส่งออกธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจด้านความงามและสุขภาพ เป็นต้น รวมทั้งเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อขยายการค้าและขจัดปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้การส่งออกล่าช้า
2. ปรับการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2544 ไปสู่โครงการที่จะสร้างรายได้แก่ประชาชนมากขึ้น ได้แก่ การพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งละ 1 ล้านบาท โครงการรักษาพยาบาล 30 บาท ต่อครั้ง เป็นต้น
3. เพิ่มการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2545 จาก 2.7% ของ GDP เป็น 5% หรือจาก 150,000 ล้านบาท เป็น 200,000 ล้านบาท
4. การออกพันธบัตร (People Bond) มูลค่า 50,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาบรรเทาปัญหาการว่างงาน
5. การจัดตั้งกองทุนร่วม Matching Fund ระหว่างรัฐบาล 25% และเอกชนต่างประเทศ 75% เพื่อทำหน้าที่ลงทุนในตลาดหุ้น และลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ
6. เลื่อนการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ออกไปอีก 2 ปี (ถึง 30 กันยายน 2546) เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจซื้อและมีการใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
7. เร่งรัดการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (TAMC) เพื่อเร่งการประนอมหนี้และฟื้นฟูกิจการธุรกิจต่าง ๆ ให้มีศักยภาพกลับมาสร้างผลผลิตในระบบเศรษฐกิจต่อไป
8. ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตในสินค้าสุราและยาสูบ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า และเป็นการเพิ่มรายได้ของรัฐ
มาตรการระยะยาว
1. ดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเร่งหารายได้เข้าประเทศ ซึ่งมีการดำเนินภายใน 2 มาตรการหลัก คือ
- มาตรการเร่งด่วนด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว ได้แก่ การป้องกันและแก้ไขปัญหาแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม การอำนวยความสะดวกในการเข้าเมือง การส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนชนบท การแก้ไขปัญหาตลาดท่องเที่ยวจีน การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาการให้บริการ และกิจกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น
- มาตรการด้านการตลาดท่องเที่ยว เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การจัด Road Show การส่งเสริมไทยเที่ยวไทย
2. ดำเนินนโยบายรณรงค์ให้ใช้สินค้าไทย เพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่าง
ประเทศและส่งเสริมให้เกิดรายได้ภายในประเทศ
3. มาตรการสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยมาตรการ ดังนี้\ - ให้ผู้ซื้ออาคารหรือซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคาร นำเงินดาวน์หรือเงินค่าซื้อ
ทรัพย์สินดังกล่าวมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการเสียภาษีได้
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กำหนดจะให้สินเชื่อในวงเงิน 100% ของราคาประเมินหรือตามราคาซื้อขาย สำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
4. สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ด้วยการขยายการให้สินเชื่อและค้ำประกัน
สินเชื่อใหักับ SME รวมทั้งเร่งจัดตั้งกองทุนเพื่อร่วมลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขยาดย่อม
5. เร่งปรับโครงสร้างการผลิตทั้งด้านอุตสาหกรรมและการเกษตร เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจจริงฟื้นตัวขึ้น
ข้อ 9. ถ้าเศรษฐกิจของโลกยังชะลอตัวลงอีก เราจะมีมาตรการอะไรที่จะเสริมอย่างเร่งด่วนไหม
แนวคำตอบ
รัฐบาลได้ตระหนักและทราบอยู่แล้วว่าในปีนี้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงกว่าปีที่แล้วมาก การจะพึ่งการส่งออกอย่างเดียวในการฟื้นเศรษฐกิจคงจะทำได้ลำบาก รัฐบาลจึงได้เร่งดำเนินมาตรการในหลาย ๆ ด้าน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น การเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง การพักหนี้เกษตรกร การจัดตั้ง TAMC เพื่อแก้ปัญหา NPL การแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ และการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวสามารถดำเนินไปได้ตามแผนที่วางไว้ ก็คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างพอเพียง
ข้อ 13. อยากให้สรุปซักนิดว่า ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาคราชการ จะต้องเดินหน้าไปอย่างไร ด้วยวิธีไหน ต้องร่วมมือกันอย่างไร เพื่อที่เราจะได้พ้นจากสภาพวิกฤตเช่นนี้
แนวคำตอบ
ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวไปทั่วโลก การที่จะพึ่งพาการส่งออกอย่างเดียวเพื่อหารายได้เข้าประเทศคงจะทำได้ไม่เต็มที่นัก ดังนั้น คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายในการช่วยให้ประเทศชาติผ่านพ้นจากวิกฤตและพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้โดยเร็ว
ภาคราชการ จะต้องเร่งการใช้จ่ายงบประมาณที่จะมีผลก่อให้เกิดรายได้ในประเทศและลดการนำเข้า โดยรัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจลดการนำเข้า ลดการใช้ที่ปรึกษาจากต่างประเทศในโครงการต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ
ภาคธุรกิจ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศมากขึ้น สร้างระบบการเชื่อมโยงการผลิตภายในประเทศและระบบเครือข่ายด้านการตลาดที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีการประสานงานที่ดีกับภาครัฐ
ในส่วนของภาคประชาชน คนไทยต้องหันมาใช้สินค้าไทย ลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย เพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และเป็นการเสริมสร้างระบบการผลิตการค้าภายในประเทศให้ขยายตัวและเข้มแข็งมากขึ้น
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ โทร. 281-9723, 282-6171-9 : 1176-7 โทรสาร. 82-6623--จบ--
-สส-