กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
คลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเคลื่อนเข้ามาจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยียานยนต์จากเครื่องยนต์ที่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานไฟฟ้า ในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเพื่อเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรือยานยนต์สมัยใหม่ ผู้ประกอบการต้องมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและบุคลากรที่มีทักษะการผลิตสูงขึ้น สถาบันยานยนต์ ร่วมกับบมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จัดงาน "อนาคตการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต" สำหรับเอสเอ็มอีผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 100 ราย ณ เดลต้า อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) พร้อมสานพลังประชารัฐเตรียมเปิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี EV และต้นแบบสถานีอัดประจุไฟฟ้า ราวช่วงกลางปี 2560 ในโครงการ "ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า" ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อถ่ายทอดความรู้และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย
การจัดสัมมนาครั้งใหญ่ เรื่อง "อนาคตการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต" นับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะส่งผ่านข้อมูลและความรู้ไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทย ได้เห็นภาพทั้งทฤษฎีและปฏิบัติครบทุกมิติ ทราบแนวทางการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลสถานภาพและแนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนของไทยและอาเซียน การพัฒนาทักษะแรงงาน นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัย เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตชิ้นส่วนของไทยให้ทัดเทียมต่างประเทศ โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในรูปแบบของการบรรยายทางวิชาการตลอดจนมีการจัดกิจกรรมเยี่ยมชมโรงงานเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำอิเล็คทรอนิคส์ของโลกและเป็นผู้ผลิตเครื่องชาร์จไฟสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
ปัจจุบันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์สร้างรายได้แก่ประเทศไทยปีละ 5 - 6 แสนล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 5 ของมูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกที่สำคัญในภูมิภาค ซึ่งเป็นการเข้ามาลงทุนของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก แนวโน้มกระแสตลาดโลกและรัฐบาลไทยปัจจุบันมีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า(EV)เพื่อประสิทธิภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อตลาดชิ้นส่วนฯแตกต่างกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ รถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน 1 คัน มีชิ้นส่วนเครื่องยนต์มากกว่าชิ้นส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งหมายความว่า ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคต อาทิ ท่อไอเสีย ระบบจ่ายน้ำมัน ถังน้ำมัน เกียร์ จะลดลงในอนาคต คาดว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะเริ่มเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป
นายวิชัย จิราธิยุต (Mr.Vichai Jirathiyut) ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า การผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อส่งออกของไทยอยู่อันดับ 12 ของโลก การผลิตของไทยมีซัพพลายทั้งในประเทศและส่งออก ฝีมือของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ไม่เพียงเฉพาะผลิตภัณฑ์และส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงบุคลลากร คนในวงการชิ้นส่วนยานยนต์ก็เป็นส่วนสำคัญมากที่จะคงไว้ซึ่งคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ส่วนใหญ่ที่เราผลิตส่งออกคือรถปิ๊กอัพ ที่เรียกว่า Product Champion และ รองลงมาคือรถ Eco Car ,ในปี 2015 ผลิตรถยนต์ได้ 1.9 ล้านคัน คาดว่าปี 2016 จะผลิตได้ 1.95 ล้านคัน โดยมีเป้าหมายในปี 2020 จำนวนผลิต 3 ล้านคัน/ปี ประเทศไทยมีค่ายรถยนต์ ทั้งสวีเดน สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อังกฤษ ญี่ปุ่น โรงงานผลิตส่วนใหญ่อยู่สมุทรปราการ และภาคตะวันออกเป็นหลัก แต่ละค่ายให้ความสนใจมาลงทุนที่ประเทศไทย เพราะสภาพภูมิประเทศของไทยเป็นแลนด์มาร์คยุทธศาสตร์ที่ใกล้พม่า กัมพูชา ลาว และจีน ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ประเทศไทยได้เปรียบ ทำให้เราเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนหรือของโลกได้ดี ด้านโครงการศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Hybrid, Plug-in hybrid, Battery EV และ Fuel cell) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมความรู้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการ ภาครัฐและประชาชนทั่วไป โดยในโครงการประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ 1) การศึกษาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและสถานีประจุไฟฟ้า 2) การจัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าและรายงานศึกษาที่เกี่ยวข้อง และ 3) การสัมมนาและประชาสัมพันธ์โครงการเทคโนโลยียานยนต์ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากเดิมที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนมุ่งเน้นที่จะพัฒนาด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการผลิต ลดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจไม่เพียงพอ โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนมีความจำเป็นที่จะต้องปรับกระบวนการผลิตให้สามารถรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัยของผู้ผลิตรถยนต์ได้ด้วย
นายเซีย เชนเยน (Mr.Hsieh Shen-yen) ประธานบริหาร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำอิเล็คทรอนิคส์ของโลก และนวัตกรรมเครื่องชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) กล่าวว่า ในรูปแบบ "อุตสาหกรรม 4.0" สิ่งที่สำคัญในกระบวนการผลิตในโลกอนาคต คือ เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หรือ Industrial Automation นับเป็นเทรนด์ของการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสู่ความทันสมัย คุณภาพ ประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน ซึ่งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และดิจิตอล IoT สามารถเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์ และให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 1.เครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation Machine) 2.โรงงานอัตโนมัติ (Factory Automation) และ 3.กระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Process Automation) โดยทุกหน่วยของระบบการผลิต ติดตั้งระบบเครือข่ายและฝังเซนเซอร์เพื่อให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน เครื่องจักร หุ่นยนต์ ระบบ และโรงงาน เชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ Internet of Things (IoT) ช่วยให้สามารถแสดงผล ควบคุม บริหารจัดการกระบวนการผลิตทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อดีของระบบอินดัสเทรียล ออโตเมชั่น คือ ช่วยเพิ่มผลผลิต, ช่วยลดต้นทุน, รองรับงานหนัก งานทำซ้ำ งานเสี่ยงอันตรายแทนมนุษย์ หรืองานที่ต้องการความแม่นยำสูง ลดข้อผิดพลาด, ลดภาระการลงทุนของ SME ผู้ประกอบการ โดยสามารถนำมาระบบออโตเมชั่น โซลูชั่นมาออกแบบและติดตั้งเพิ่มเพื่อปรับปรุงโรงงานเดิมที่มีอยู่แล้ว พัฒนาคุณภาพ/เพิ่มปริมาณการผลิตหรือตามเป้าประสงค์อื่นๆของผู้ประกอบการ ซึ่งหากเป็นสมัยก่อนผู้ประกอบการไม่มีทางเลือกอื่นในการเพิ่มผลผลิตแต่จะต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ ซื้อที่ดินและปลูกสร้างโรงงานเพิ่ม เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของผลิตภัณฑ์, ช่วยประหยัดพลังงาน เสริมศักยภาพและยกระดับอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ, สามารถผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการที่แตกต่างของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม แต่ยังรักษาประสิทธิภาพการผลิตที่สูงในระดับเดียวกับการผลิตแบบคราวละมากๆ
โครงการความร่วมมือระหว่างเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ กับ สถาบันยานยนต์ สานพลังประชารัฐเพื่อร่วมปฏิรูปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่จะพัฒนายกระดับ นอกจากการจัดสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย ยังเตรียมเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าต้นแบบ และศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ณ สถาบันยานยนต์ บางปู เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ SME ชิ้นส่วนยานยนต์ และประชาชนทั่วไปได้สัมผัสกับเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กำหนดแล้วเสร็จในราวกลางปี 2560
น.ส.ฐิติภัทร ดอกไม้เทศ ผู้ชำนาญการพิเศษ สถาบันยานยนต์ กล่าวถึงผลกระทบและการเตรียมตัวของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยต่อสถานการณ์ปัจจุบันว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์รายสำคัญของโลก สถานการณ์ทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย คือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเก่าและจีนชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ด้านสถานการณ์ของไทย ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ช่วงกับดักรายได้ปานกลาง มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เศรษฐกิจของสหรัฐกำลังฟื้นตัวส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์ จากที่ใช้น้ำมันฟอสซิล ประเทศไทยก็เริ่มนำยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เข้ามาใช้ รัฐบาลไทยก็ให้การสนับสนุน นโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมยานยนต์ของไทยในปัจจุบันคือ ยานยนต์สมัยใหม่ จะต้อง "สะอาด ประหยัด ปลอดภัย" ด้านการปรับตัวของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์โลก คือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 2.การสร้างนวัตกรรมและวิจัยพัฒนา 3.การสร้างตราสินค้าของตนเอง ทั้งนี้สถาบันยานยนต์มีโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการทดสอบสำหรับมาตรฐานมอก. และ ASEAN MRA และ สนามทดสอบเพื่อการทดสอบและวิจัยพัฒนา