กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนธันวาคมปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 0.5 ทำให้ MPI ไตรมาส 4/2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.46 และภาพรวมทั้งปีขยายตัวขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.44 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และอาหารทะเลกระป๋องแช่แข็ง
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน 2559 มีการขยายตัวร้อยละ 0.5 ทำให้ MPI ไตรมาส 4/2559 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.46 และภาพรวมทั้งปีขยายตัวขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.44 เช่นเดียวกันกับการส่งออกประจำเดือนธันวาคมที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 3.5 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกประจำเดือนธันวาคม ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และอาหารทะเลกระป๋องแช่แข็ง
สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก การผลิตเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาเหล็กที่ปรับสูงขึ้น ในขณะที่ปีก่อนราคาเหล็กตกต่ำ ผู้ผลิตในประเทศสู้ราคาสินค้านำเข้าไม่ได้จึงมีการผลิตที่น้อยกว่า เช่นเดียวกับเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม และเหล็กแผ่นรีดร้อน อย่างไรก็ตามปริมาณความต้องการใช้ยังคงมีอยู่น้อยถ้าเทียบกับในช่วงภาวะปกติ
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำพวก Other IC, Monolithic IC และ Transistors ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของเทคโนโลยียานยนต์และอุปกรณ์ที่ปรับมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดยุโรปและสหรัฐฯ
ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ การผลิตเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุจากปริมาณสต็อกยางพาราในการผลิตยางแผ่น และผลิตภัณฑ์ยางแท่ง ของตลาดจีนปรับลดลง จึงมีคำสั่งซื้อจากประเทศจีน เครื่องประดับ การผลิตเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะเครื่องประดับจำพวกกำไล จากส่งออกที่มีแนวโน้มพื้นตัวต่อเนื่อง อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง การผลิตเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นและการเร่งผลิตในฤดูกาลนี้ โดยมีปลาแช่แข็ง เป็นสินค้าหลักที่ขยายตัว รองลงมาเป็นปลาหมึกแช่แข็ง อุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 4/2559 ได้แก่
เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากราคาเหล็กที่ปรับสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ส่งผลให้ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยขยายขึ้นตามความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และเป็นไปตามกระแสการพัฒนาสินค้าบริโภคที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์และจากกระแสเทคโนโลยียานยนต์ที่หันมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันแก๊ซโซฮอล 95 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 2-3 บาท/ลิตร ตามราคาตลาดโลก จึงส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเดินทางมากขึ้นกว่าเดิม
เครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ (เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน) ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.70 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากการที่ผู้ผลิตมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับกับความต้องการสินค้าในตลาด CLMV ที่มีอัตราการเติบโตสูง