กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--มทร.ธัญบุรี
มทร.ธัญบุรี เปิดบ้านครั้งใหญ่ ครบรอบ 42 ปี จัดงานวันสถาปนามหาวิทยาลัย โชว์งานวิจัยนวัตกรรมสร้างสรรค์ รับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 พร้อมเปิดบ้านโชว์ศักยภาพบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพให้ความรู้และเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนสำหรับเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 42 ปี มทร.ธัญบุรี เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมุ่งเน้นการสร้าง 'บัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ' หลักสูตรการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย 'ไทยแลนด์ 4.0' ที่ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ซึ่งในปีที่ 42 ชูแนวคิด นวัตกรรมสร้างสรรค์ RT'60 โดยได้รับเกียรติจากนายวิรัช ชินวินิจกุล องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน
ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ของอาจารย์และนักศึกษา ที่พร้อมจะนำไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เช่น ต้นแบบปลั๊กอัจฉริยะสำหรับบ้านอัจฉริยะ การพัฒนาต้นแบบการผลิตแผ่นเจลมาส์กหน้าตำรับสมุนไพรไทยในระดับอุตสาหกรรม การพัฒนาต้นแบบเครื่องปลูกเมล็ดธัญพืช รวมถึงงานวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวทีโลก เช่น ผลของการใช้ต้นอ่อนข้าวหอมมะลิและทดแทนความหวานต่อคุณภาพของไอศกรีม การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ลดการเกิดเชื้อราและยืดอายุของมะม่วงและมะละกอจากวัสดุเหลือทิ้งในภาคการเกษตร การพัฒนาอุปกรณ์การถักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานถัก และแผ่นฟิล์มมาส์กหน้าบัวหลวงละลายเร็วกับนาโนสเปรย์เพื่อชะลอวัย รวมถึงการจัดแสดงการบริการวิชาการแก่สังคม
ลองมาฟังเสียงนักศึกษาที่นำผลงานมาโชว์ศักยภาพในครั้งนี้กันบ้าง เริ่มจาก "ดา" ณัฐสุดา บุญธรรม ชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ที่ช่วยในการตระเตรียมงานเพื่อการจัดแสดงในผลงาน "การใช้ต้นอ่อนข้าวหอมมะลิและทดแทนความหวานต่อคุณภาพของไอศกรีม" ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทอง ในงาน The 65th World Exhibition on Inventions, Research and New Technologies (Brussels Innova 2016) จัดขึ้นที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม เล่าว่า ได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงเกี่ยวกับผลงานดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาไอศกรีมและเครื่องดื่ม จะตั้งใจเก็บเกี่ยวความรู้และเทคนิคต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาชีพในการทำงานต่อไปในอนาคต เพราะอาหารและเครื่องดื่มเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แต่เราจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการใช้วัตถุดิบ พัฒนาสูตรและต้องใส่ความเป็นเทคโนโลยีลงไป เช่น การผลิต การบรรจุและการเก็บรักษาอาหารต่างๆ
"ซีอิ๊ว" เอกณัฏฐ์ ลาภสัมพันธ์ สาขาวิชาสุขภาพและความงาม ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย เล่าว่า ผลงานการพัฒนาต้นแบบการผลิตแผ่นเจลมาส์กหน้าตำรับสมุนไพรไทยในระดับอุตสาหกรรม ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ในงาน Brussels Innova 2016 เช่นเดียวกัน ซึ่งตนนั้นมีส่วนร่วมในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยและได้นำผลงานมาจัดแสดงในครั้งนี้ ซึ่งมีกระแสตอบรับจากผู้เข้าร่วมชมงานให้ความสนใจเป็นอย่างดี ปัจจุบันได้ต่อยอดผลงานสู่เชิงพาณิชย์แล้ว ดีใจที่ได้เห็นสมุนไพรไทยได้รับการตอบรับที่ดี และมองว่าด้วยความหลากหลายของพืชสมุนไพรไทย สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามได้อีกมากมาย
สองหนุ่มสาวตัวแทนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี ปี 3 "บิ๊ก" กุลวสุ เหมทิวากร และ "กัน" กัลยรัตน์ ว่องวิกย์การ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นอกจากบรรยากาศความสนุกและความตื่นตาตื่นใจ ยังได้ความรู้ควบคู่ด้วย เช่น การเตรียมความพร้อมการเป็นบัณฑิตมืออาชีพสำหรับสู่โลกจริงของการทำงาน ซึ่งมีนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก และมองว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นสาขาที่อาจการันตีได้ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วมีงานรองรับอย่างแน่นอน และเป็นสาขาอาชีพที่มีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างสูงกว่าวิชาชีพอื่นๆ แต่จะต้องตั้งใจเรียนและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งหนุ่มซึ่งขอเป็นตัวแทน RMUTT ORCHESTRA คณะศิลปกรรมศาสตร์ "เฟิร์ส" ปิยพันธ์ ผดาวัลย์ ปี 3 สาขาวิชาดนตรีคีตศิลป์สากลศึกษา ที่แสดงศักยภาพโชว์การขับร้องประสานเสียงในงานนี้ บอกว่า "ตนขับร้องประสานในไลน์เสียงต่ำ เพลงสวัสดีไชโยและเพลงในหลวงของแผ่นดิน โดยมีอาจารย์อนันท์พร เอี่ยมชาญบรรจง เป็นผู้ฝึกสอนและสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับดนตรี ขอบคุณมหาวิทยาลัยที่มีเวทีเปิดโอกาสให้ได้แสดงความสามารถอย่างสม่ำเสมอ ได้ทำในสิ่งที่ตนรักและนำความรู้ที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในอนาคต ฝันอยากเป็นครูสอนดนตรีสากล"
นี่คือศักยภาพและความเคลื่อนไหว บนเส้นทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาในโอกาสครบรอบ 42 ปี มทร.ธัญบุรี