กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์ประกาศใช้เกณฑ์รับหลักทรัพย์จดทะเบียนฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งเน้นความครบถ้วนและโปร่งใสของข้อมูลที่เปิดเผยโดยบริษัทผู้ยื่นคำขอ และมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อดึงดูดให้บริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตให้สามารถนำหุ้นเข้ามาจดทะเบียนได้รวดเร็วและมากยิ่งขึ้น เพิ่มเกณฑ์รับหลักทรัพย์เป็น 3 ทางเลือก คือ เกณฑ์กำไรสุทธิ เกณฑ์รายได้จากการขาย และ เกณฑ์มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ให้บริษัทผู้ยื่นขอจดทะเบียนเลือกตามความเหมาะสมกับสภาพธุรกิจ ยกเลิกการกำหนดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ ไม่พิจารณาเรื่องผลขาดทุนสะสม ลดขั้นตอนและการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณารับหลักทรัพย์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 มิ.ย. 2543 เป็นต้นไป
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์จะประกาศใช้หลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนประเภทหุ้นสามัญฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งได้ยกเลิกหรือผ่อนปรนหลักเกณฑ์หลายรายการเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ยื่นคำขอ ที่ประกาศใช้เมื่อเดือนธันวาคม 2542 ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจตลอดจนแนวโน้มการปรับโครงสร้างธุรกิจและการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคเอกชน ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้บริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต และบริษัทที่อยู่ในระยะฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ ที่มีความต้องการเงินทุนให้สามารถเข้าจดทะเบียนได้มากและรวดเร็วยิ่งขึ้น และเพิ่มปริมาณสินค้าในตลาดหลักทรัพย์ให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกอย่างหลากหลาย ทั้งนี้การปรับปรุงเกณฑ์รับหลักทรัพย์ดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ยังคงมุ่งเน้นให้บริษัทผู้ยื่นคำขอต้องมีระบบกำกับดูแลกิจการที่ดีและเปิดเผยสารสนเทศเกี่ยวกับผลการดำเนินงานอย่างครบถ้วนและโปร่งใส เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลอย่างเพียงพอประกอบการตัดสินใจ และลดการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณารับหลักทรัพย์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในหลายประเทศถือปฎิบัติในขณะนี้ ทั้งนี้หลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 16 มิ.ย. 2543 เป็นต้นไป
"เกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนใหม่นี้ ได้ปรับปรุงข้อกำหนดเชิงปริมาณในหลายประเด็น แต่ยังคงเน้นความสำคัญของข้อกำหนดเชิงคุณภาพ เช่น การจัดให้มีระบบกำกับดูแลกิจการที่ดี การจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ระบบตรวจสอบภายใน และการเปิดเผยสารสนเทศอย่างโปร่งใสได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารงานของบริษัทแล้ว ยังทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือจากผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย" นายวิชรัตน์กล่าว
หลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียน ที่ได้รับการปรับปรุงมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
หลักเกณฑ์สำหรับบริษัททั่วไป
1) ผ่อนปรนและเพิ่มเกณฑ์พิจารณารับหลักทรัพย์ จากเดิมที่มีเฉพาะเกณฑ์กำไรสุทธิหลังหักภาษีเพียงอย่างเดียว ปรับปรุงใหม่เป็น 3 ทางเลือกให้บริษัทผู้ยื่นคำขอพิจารณาเลือกตามความเหมาะสมกับสภาพธุรกิจของตนเอง ได้แก่
เกณฑ์กำไรสุทธิ (Profit-Based) ผ่อนปรนจากเดิมที่กำหนดให้บริษัทผู้ยื่นคำขอต้องเริ่มมีกำไรสุทธิในปีที่ 2 และมีกำไรสุทธิในปีที่ 3 (ปีก่อนหน้าการยื่นขอจดทะเบียน) ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ปรับปรุงใหม่เป็น อาจมีหรือไม่มีกำไรสุทธิในปีที่ 1 และ 2 ก็ได้ แต่ปีที่ 3 ต้องมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
เกณฑ์รายได้จากการขาย (Sales-Based) เป็นทางเลือกใหม่ให้บริษัทที่มีรายได้จากการขายในปีล่าสุดไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ เกณฑ์มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization-Based) เป็นทางเลือกใหม่ให้บริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด จะคำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท คูณด้วยราคาหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชน
2) ยกเลิกการกำหนดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ราคา 10 บาท ปรับปรุงใหม่โดยเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ยื่นคำขอสามารถกำหนดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ตามความเหมาะสมกับสภาพหลักทรัพย์ของบริษัท แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อหุ้น ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
3) ลดระยะเวลาการดำเนินงานภายใต้ผู้บริหารชุดเดียวกัน จากเดิม 3 ปี เหลือเพียง 1 ปี ให้สอดคล้องกับแนวโน้ม ในปัจจุบันที่ภาคธุรกิจมีการปรับโครงสร้างการบริหารงานมากขึ้น
4) ยกเลิกเกณฑ์การพิจารณาเรื่องผลขาดทุนสะสม จากเดิมที่กำหนดให้บริษัทผู้ยื่นคำขอต้องไม่มีผลขาดทุนสะสม ปรับปรุงใหม่เป็นต้องมีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทแทน เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทที่มีแนวโน้มผลประกอบการดี แต่ยังทำกำไรเพื่อหักล้างขาดทุนสะสมในอดีตไม่หมด หรือ บริษัทที่มีการปรับโครงสร้างกิจการ หรือปรับโครงสร้างหนี้ สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
5) ยกเลิกเกณฑ์การพิจารณาเรื่องความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ การปรับตัวและปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับความอยู่รอดในธุรกิจ เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณารับบริษัทจดทะเบียน
หลักเกณฑ์สำหรับ Holding Company
1) เพิ่มความคล่องตัวแก่บริษัทที่มีการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจเป็น Holding Company ให้สามารถยื่นคำขอ จดทะเบียนได้รวดเร็วขึ้น โดยยกเลิกหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้บริษัทต้องถือหุ้นในบริษัทแกนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนยื่นคำขอ และผ่อนปรนระยะเวลาที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ของ Holding Company จะต้องเป็นชุดเดียวกับบริษัทแกน จากเดิมไม่ต่ำกว่า 3 ปี ปรับปรุงใหม่เป็นไม่ต่ำกว่า 1 ปีก่อนยื่นคำขอ (ยกเว้นกรณีสถาบันการเงินซึ่งต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลอื่น)
2) ลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกแก่บริษัทจดทะเบียนที่มีการจัดตั้ง Holding Company ขึ้นใหม่เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท ให้สามารถโอนสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนจากบริษัทจดทะเบียนเดิมไปยัง Holding Company ที่จัดตั้งใหม่ได้
3) เพิ่มความคล่องตัวให้บริษัทในเครือของบริษัทจดทะเบียนสามารถระดมทุนและยื่นคำขอจดทะเบียนด้วยตนเองได้รวดเร็วขึ้น โดยยกเลิกเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมเรื่องผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือในปีล่าสุดก่อนยื่นคำขอและปีที่ยื่นคำขอเปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียน
อนึ่ง เกณฑ์รับหลักทรัพย์จดทะเบียนสำหรับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และบริษัทที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ตลาดหลักทรัพย์ได้ผ่อนปรนให้มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น และประกาศใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2542 เป็นต้นมา ยังคงเดิมมิได้มีการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ยังได้ยกเลิกขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทผู้ยื่นคำขอและหลักทรัพย์ที่ยื่นขอจดทะเบียนโดยคณะอนุกรรมการพิจารณารับหลักทรัพย์ โดยให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์พิจารณาคำขอโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการพิจารณารับหลักทรัพย์ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
สอบถามเพิ่มเติม โปรดติดต่อ ฝ่ายสารนิเทศ โทร. 229-2046 หรือ 229-2040 ถึง 2043 โทรสาร 359-1005--จบ--
-อน-