กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา เตรียมจัดยิ่งใหญ่ "วิถีวัฒนธรรม ตามรอยพ่อ" ขนโนรา 300 ชีวิตรำถวายอาลัย จัดเต็มการแสดง 4 ภาคตลอด 9 วัน 9 คืน อินโด-มาเลย์ ร่วมประชันบนเวที พร้อมลงนามความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม
นายโอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2560 "วิถีวัฒนธรรม ตามรอยพ่อ" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10-18 ก.พ. นี้ว่า คอนเซ็ปต์ของงานในปีนี้มาจากการที่ มรภ.สงขลา ได้ปฏิบัติตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จึงเห็นถึงความสำคัญของวิถีวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือเป็นรากแก้วของแผ่นดิน ประการสำคัญ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 13 ต.ค.59 ยังความโศกเศร้าเสียใจของคนไทยทั้งประเทศ พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อปวงพสกนิกรของคนไทยยังอยู่ในใจตราบชั่วนิจนิรันดร์ ดังนั้น มรภ.สงขลา จึงได้ดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมในการสานต่อแนวคิด แนวปฏิบัติของพระองค์ท่าน เพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมถวายอาลัย และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมไทยทุกภูมิภาค โดยพิธีเปิดจะมีขึ้นในวันที่ 14 ก.พ. อันเป็นวันพระราชนามราชภัฏ
ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวว่า ภายในงานมีการจัดเสวนาสืบสานพระราชปณิธาน สร้างสรรค์งานเพื่อแผ่นดิน การแสดงดนตรีพระราชนิพนธ์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ คอนเสิร์ตน้อมใจอาลัยพ่อ โดยโปรแกรมวิชาดนตรีสากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ การแสดงชุดทั่วพื้นปฐพีสดุดีจักรีวงศ์ ในรูปแบบของบทเพลงตามรอยพ่อ โดยดาว-เดือนของแต่ละคณะ โขนและการแสดง 4 ภาค โสภณศาสตร์ศิลป์ ธีระบุรินทร์รังสรรค์ โดยโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง และลิเกคณะพัลลภ เพชรรุ่ง อยุธยา การแสดงของศิลปินโนรารวมใจ ถวายอาลัย 300 คน ซึ่งจัดเป็นมินิเธียเตอร์ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม อลังการศิลปหัตถกรรม น้อมนำสดุดี นิทรรศการน้อมรำลึกพระมหากรุณาฯ ปลูกไทยในแบบพ่อ เป็นต้น คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานราว 5,000 คนนอกจากนั้น ยังมีการแสดงจากประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยปาดังปันจัง ประเทศอินโดนีเซีย จะมาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย พร้อมทั้งลงนามความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกับ มรภ.สงขลา
นายโอภาส กล่าวอีกว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ควบคู่กับการดำเนินชีวิตที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะสิ่งที่เราปฏิบัติหรือการกระทำของเราในชีวิตประจำวันล้วนแล้วแต่เป็นวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการกิน วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันในสังคม และอีกอย่างวัฒนธรรมก็เป็นตัวบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ หรือบ่งบอกความเป็นตัวตนของตนเอง เพราะในแต่ละท้องถิ่นมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป จนกลายเป็นวิถีชุมชนที่สังคมของตนให้การยอมรับและปลูกฝังให้คนรุ่นหลังนำมาปฏิบัติสืบต่อกัน ในบางท้องถิ่นยึดถือปฏิบัติตามวัฒนธรรมอย่างเคร่งครัด จนวัฒนธรรมกลายเป็นประเพณีที่ได้รับการสืบทอดและแพร่หลายไปสู่ชุมชนต่างๆ ได้ปฏิบัติหรือเอาเป็นแบบอย่าง ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุและวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามา ทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีวัฒนธรรมความเป็นไทย คนรุ่นใหม่หันไปสนใจวัฒนธรรมต่างชาติ ปล่อยปละละเลยวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของบรรพชนอันมีคุณค่าและบ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ดังนั้น การจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์เป็นประจำทุกปีของ มรภ.สงขลา จึงเป็นการปลูกฝังให้นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป เกิดความรักและความตระหนักในศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ