กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ โดยปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง รวม 7 อำเภอ 31 ตำบล 87 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,984 ครัวเรือน 45,046 คน ในช่วงวันที่ 3 – 4 กุมภาพันธ์ 2560 จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง บกปภ.ช. จึงได้ประสานให้จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล พร้อมทั้งได้กำชับจังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลความเสียหาย เพื่อวางมาตรการให้การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสมและครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัยให้จัดทีมช่างตำบล โดยบูรณาการหน่วยทหาร นักเรียนอาชีวะ ช่างท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ ในการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ บกปภ.ช. ได้จัดทำแนวทางการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 16 ด้าน ซึ่งจะได้ประสานหน่วยงานรับผิดชอบหลักจัดทำแผนงาน พร้อมรวบรวมเป็นแผนการฟื้นฟูบูรณะในภาพรวมและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดมาตรการฟื้นฟูและจัดสรรงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป
31 ม.ค. 60 กรุงเทพฯ : นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช. เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยเข้าร่วมประชุมฯ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมคลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 9 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา ยังคงมีสถานการณ์ใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง รวม 7 อำเภอ 31 ตำบล 87 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,984 ครัวเรือน 45,046 คน ซึ่งจากการติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ภาคใต้ตอนล่างมีฝนน้อย ร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ และในช่วงวันที่ 3 – 4 กุมภาพันธ์ 2560 จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง บกปภ.ช. จึงได้ประสานให้จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย เร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล ควบคู่กับการสำรองน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงบูรณาการการเคลื่อนย้ายกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์จากพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายไปประจำตามจุดเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำและริมชายฝั่งทะเลใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง รวมถึงพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำหรือสันดอนกลางน้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำและจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า ระยะนี้สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่ บกปภ.ช. จึงได้ปรับแผนการดำเนินงานจากการจัดการในภาวะฉุกเฉินเข้าสู่กระบวนการเยียวยาผู้ประสบภัยและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ บกปภ.ช.ประสานจังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อวางมาตรการให้การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสมและครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีพ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การประกอบอาชีพ (เกษตร ประมง ปศุสัตว์) โดยด้านที่อยู่อาศัย จากการสำรวจในเบื้องต้นมีบ้านเรือนเสียหาย 11,803 หลัง แยกเป็น เสียหายทั้งหลัง จำนวน 304 หลัง เป็นบ้านที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้อง 179 หลัง ไม่มีกรรมสิทธิ์ 125 หลัง และเสียหายบางส่วน 11,499 หลัง ทั้งนี้ ให้จังหวัดจัดทีมช่างตำบล ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยทหาร นักเรียนอาชีวะ ช่างท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ ในการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย โดยใช้แบบแปลนบ้านของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีจะให้การสนับสนุนงบประมาณเฉพาะค่าวัสดุในการก่อสร้างบ้าน วงเงินไม่เกินหลังละ 230,000 บาท จึงขอให้จังหวัดตรวจสอบข้อมูลบ้านเรือนทั้งที่สามารถซ่อมแซมได้เองและดำเนินการไปแล้ว รวมถึงบ้านเรือนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพื่อคำนวณวงเงินงบประมาณที่จังหวัดต้องการขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม โดย บกปภ.ช. จะได้ประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงเป็นข้อมูลให้ทีมช่างตำบลวางแผนการซ่อมแซมบ้านเรือนได้อย่างทั่วถึง ในส่วนของผู้เสียชีวิต ให้จ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตทุกรายทั้งเงินช่วยเหลือตามระเบียบและเงินสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นๆ โดยให้สำรวจข้อมูลเชิงลึกกรณีเด็กกำพร้า เนื่องจากพ่อแม่หรือผู้อุปการะเลี้ยงดูเสียชีวิตจากอุทกภัย เพื่อประสานให้การช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ต่อไป ทั้งนี้ บกปภ.ช. ได้จัดทำแนวทางการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็น 16 ด้าน อาทิ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านสาธารณูปโภคการสื่อสารและสารสนเทศ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม ด้านการประกอบอาชีพ ด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งจะได้ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในแต่ละด้านจัดทำแผนงานทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อนำเสนอที่ประชุม บกปภ.ช. และรวบรวมเป็นแผนการฟื้นฟูบูรณะในภาพรวม และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดมาตรการฟื้นฟูและจัดสรรงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป