ประธานแพทยสมาคมโลก อเมริกา และ อังกฤษ ชมแพทย์ไทยเจ๋ง เผยไทยเป็นฮับสุขภาพในเอเชียได้แน่นอน

ข่าวทั่วไป Friday November 25, 2005 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--โปรคอมมูนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
ประธานแพทยสมาคมโลกเยือนไทยเป็นครั้งแรก พร้อมทีมแพทย์จากต่างประเทศอีกกว่า ๒๐ ประเทศ ร่วมฉลองครบรอบ ๘๔ ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เจ้าภาพปลื้ม อาคันตุกะต่างประเทศ ชื่นชมคนไทย หลังได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยม เผยการประชุมวิชาการในมิติใหม่ กระแสดี วงการแพทย์ไทย ผู้เชี่ยวชาญ องค์กร หน่วยงาน และประชาชนชาวไทย ตอบรับกระแสรักษ์สุขภาพ ร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันคึกคักตลอดงานทั้ง ๓ วัน
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ๓ ผู้นำแพทยสมาคมจากประเทศมหาอำนาจของโลก ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาในงานประชุมวิชาการครบรอบ ๘๔ ปี โดย ประธานแพทยสมาคมโลก Dr Yank D.Coble กล่าวถึงภารกิจในการดูแลวงการเพื่อนแพทย์และการพัฒนาต่อยอดภารกิจการดูแลที่จะเริ่มเดินหน้าเข้าสู่ประเทศในอาเซียนทั้งหมด ขณะที่ ประธานแพทยสมาคมสหรัฐอเมริกา Dr John C. Nelson กล่าวถึง การฟ้องร้องและจริยธรรมของแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยยกกรณีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า หากผู้เสียหายและวงการแพทย์ไม่ประนีประนอมกัน ผลกระทบก็จะเกิดกับทุกฝ่าย ไม่เกิดผลดีกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลย ขณะที่ ประธานแพทยสมาคมประเทศอังกฤษ Dr.James Johnson เล่าถึงการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในประเทศอังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลรักษาสุขภาพทั้งในเพื่อนแพทย์ด้วยกัน และ การดูแลรักษาผู้ป่วย รวมถึงผู้ที่ยังไม่ป่วย ซึ่งถือเป็นภารกิจของแพทย์ด้วยเช่นกัน อาคันตุกะทั้ง ๓ ท่านต่างยอมรับความก้าวหน้าของวงการแพทย์ไทย รวมทั้งแสดงความชื่นชมในตัวแพทย์คนไทยว่ามีความเชี่ยวชาญไม่แพ้ชาติอื่นๆ เลยทีเดียว ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่ให้เกียรติประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกลางปีแพทยสมาคมอาเซียนในวาระเดียวกันนี้ ซึ่งได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว พม่า เขมร เวียดนาม บรูไน และ สิงคโปร์ ต่างก็แสดงความชื่นชมและขอบคุณคนไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น เช่นเดียวกัน
ตลอดทั้ง ๓ วัน ของงานประชุมวิชาการครบรอบ ๘๔ ปี ระหว่างวันที่ ๑๗—๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ณ อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สนใจจำนวนมาก หัวข้อที่น่าสนใจที่เป็นสุดยอดไฮไลท์ในเวทีนี้มีหลากหลาย โดย พ.ญ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง Health Spa ความเหมือนหรือแตกต่างจาก Medical Spa ว่า "สปาในประเทศไทย แบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ สปาเพื่อสุขภาพ (Health Spa) กับ สปาสำหรับผู้มีโรคประจำตัว (Medical Spa) ซึ่งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กำลังสนับสนุนให้โรงพยาบาลต่างๆ เปิดสปาสำหรับ ผู้มีโรคประจำตัวให้มากขึ้น เพื่อการดูแลสุขภาพผู้ป่วยแบบองค์รวมอย่างถูกวิธี สำหรับผู้ป่วยให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ทั้งนี้ การจัดสปาสำหรับผู้มีโรคประจำตัว (Medical Spa) และการดูแลแบบองค์รวมที่ดี มีรายละเอียดที่แตกต่างออกไปเป็นพิเศษ ได้แก่ เรื่องอาหารการกินและเครื่องดื่ม ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละโรค โดยเน้นอาหาร-เครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ, การนวด ไม่ว่าจะเป็นนวดน้ำมัน นวดไทย หรือนวดสมุนไพร ต้องคำนึงถึงอาการของผู้ป่วยด้วย เช่น หากเป็นเบาหวาน จะนวดแรงๆ ไม่ได้, สุคนธบำบัด หรือ Aroma Therapy ที่อาจมีผล ข้างเคียงสำหรับผู้ป่วยบางประเภท หรือสตรีมีครรภ์บางราย ซึ่งแพทย์ต้องเป็นผู้วินิจฉัยว่าควรรับบริการนี้หรือไม่, วารีบำบัด (Hydratherapy) ควรจัดระดับและระยะเวลามากน้อยเพียงใด สำหรับอาการหรือโรคที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีการฝึกทำสมาธิ และการฝึกปราณหรือการหายใจ ซึ่งให้ความสบายแก่ผู้ป่วยครบถ้วนทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ อันเป็นแนวทางหนึ่งในการให้บริการที่อยากให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทยควรหันมามุ่งเน้นอย่างจริงจัง
ด้าน รศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการขยายหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง กล่าวว่า “โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคหัวใจที่มีความรุนแรงมากที่สุด สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบนั้น เกิดจากไขมันโคเลสเตอรอลรวมถึงหินปูน (แคลเซียม) ไปสะสมอยู่ในผนังด้านในของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบแคบลง จนทำให้เลือดที่จะนำไปเลี้ยงหัวใจไหลไม่สะดวกและเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง จนกล้ามเนื้อหัวใจขาดอาหารและออกซิเจน หากเป็นมากก็จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขึ้น หากหลอดเลือดอุดตันสนิทอย่างฉับพลัน เลือดจะไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจวายจนกระทั่งเสียชีวิต โรคหลอดเลือดหัวใจนี้ มักจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และผู้ชายส่วนใหญ่ที่พบมักจะอายุ ๔๕ ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงจะพบในอายุประมาณ ๕๕ ปีขึ้นไป และหากเป็นคนที่สูบบุหรี่ มีความดันโลหิตสูง โคเลสเตอรอลสูง เป็นโรคเบาหวาน มีความเครียดเป็นประจำ และขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีคนป่วยเป็นโรคนี้มากขึ้นทุกวัน โดยจากประสบการณ์ของผมเอง หากเทียบจำนวนผู้ป่วยเมื่อ ๑๕ ปีก่อนนี้ ใน ๑ สัปดาห์ จะพบผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพียง ๑ ราย แต่ในปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคนี้ถึงประมาณ ๘ รายต่อ ๑ วัน และมีแนวโน้มจะพบในกลุ่มอายุที่น้อยลงมาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก
นพ.ธีระ พีรัชวิสุทธิ์ จากโรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวถึงเรื่อง ไขมันคั่งสะสมในตับ ว่า สาเหตุอาจจะพบในกลุ่มที่ดื่มสุรา ยาบางตัว สารพิษ เกิดจากอาหารไขมัน ทอด ย่าง จำพวกมีไขมันต่างๆ รวมไปถึงอาหารพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรตด้วย การตรวจรักษาที่นิยมคือการอัลตราซาวด์ การดูแลรักษานอกจากยาแล้ว ก็ยังทำวิธีอื่นๆ ได้ เช่นการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายแต่ไม่ควรที่จะหักโหมมาก เพราะจะเป็นอันตรายต่อตับมากขึ้น แต่ควรที่จะลดให้ได้ จนถึงมาตรฐานที่ควรจะเป็น แต่ถ้าลดไม่ได้เราก็ต้องมาควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงอาหารที่กินอยู่ เช่น อาจจะไม่กินพวกแป้งตอนเย็น แต่ก็มากินอะไรที่มีไฟเบอร์แทน เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง แต่ถ้าทำถึงขนาดนี้แล้วยังไม่ลดลงอีก ก็ควรที่จะไปปรึกษาแพทย์เรื่องลดน้ำหนัก กลุ่มที่มีความเสี่ยงกับโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็น กลุ่มวัยกลางคน และยังมีกลุ่มที่เป็นโรคอ้วน เบาหวาน มีไขมันในเลือดสูง มีความดันโลหิตสูง เป็นต้น
และหัวข้อ "การลงทุนอย่างไรให้คุ้มค่า" ที่บรรยายโดย คุณวันชัย เหมรัตนากร ผู้จัดการศูนย์การขาย สาขาพระรามเก้า บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก ขณะที่บรรยากาศภายนอกห้องประชุม มีประชาชนส่วนหนึ่งสนใจเดินชมนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคภัยใหม่ๆ และเครื่องมือทันสมัยที่ใช้ในการรักษาปัจจุบัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น นิทรรศการเรื่อง STEM CELL ที่สนับสนุนโดย บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด , สสส. ที่มาตั้งบูธให้ความรู้เรื่องของบุหรี่ เป็นต้น
นายปรีดี ขวัญงาม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ในฐานะประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์และผู้สนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ เปิดเผยถึงความสำเร็จของการจัดงานประชุมในครั้งนี้ว่า “เป็นมิติใหม่ของแพทยสมาคมฯ ด้วยงานประชุมที่จัดขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นการเปิดตัว เพื่อให้ประชาชนรับรู้ในภารกิจขององค์กร ว่า ทำอะไร และเพื่อใคร ดังนั้น หากจะมีการประชุมครั้งต่อไป จึงเป็นเรื่องที่สื่อสารถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น และจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน นับเป็นนิมิตหมายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์ผู้รักษากับผู้ที่เข้ามารับการรักษา และภาวะสุขภาพที่แข็งแรงของคนไทยในอนาคต
รายละเอียดเพิ่มเติม
ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์
อุมา พลอยบุตร์, เรวดี ด้วงช่วย
โทร. ๐ ๒๖๙๑ ๖๓๐๒-๔ , ๐ ๒๒๗๔ ๔๗๘๒
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ