กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--กทม.
ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ เขตวัฒนา เมื่อวันที่ 25 พ.ค.44 เวลา 15.00 น.ที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงโครงการรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษว่า ตามที่ตนได้เคยเสนอแนวความคิดว่าจะหาที่ดินแปลงใหญ่ ๆ ประมาณ 1,000 ไร่ บริเวณรอยตะเข็บด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานครเพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกผักทางด้านตะวันตกเข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดสารพิษ พร้อมทั้งมีบ้านพักอยู่ภายในแปลงผักโครงการฯด้วยนั้น แต่เมื่อตนได้ไปดูพื้นที่ทางด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครแล้ว ก็มีความคิดใหม่ว่าควรหาพื้นที่ทางด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ เช่น บริเวณเขตหนองจอก ลาดกระบัง และใกล้เคียงดีกว่า เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ผืนใหญ่มากและอยู่ในเขตกทม. โดยจะเจรจาขอความร่วมมือเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 500 ไร่ ถึง 1,000 ไร่ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อนุญาตให้เกษตรกรเช่าที่ดิน โดยกรุงเทพมหานครจะเสียค่าใช้จ่ายในการนำเครื่องมือพร้อมอุปกรณ์ไปปรับที่ดินและยกร่องแปลงผักตามโครงการดังกล่าว ส่วนเกษตรกรที่จะทำการเพาะปลูกพืชผักในบริเวณดังกล่าว จะต้องทำตามเงื่อนไขของกทม. คือ ปลูกพืชผักแบบชีวภาพ เท่านั้น ไม่ใช้สารเคมี
นายสมัคร กล่าวอีกว่า ในวันนี้ สำนักพัฒนาชุมชนได้เชิญเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรจาก 50 สำนักงานเขต ประมาณ 500 คน เข้ารับการสัมมนา เรื่อง การเกษตรปลอดภัยสารพิษเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งในการสัมมนาครั้งนี้สำนักพัฒนาชุมชนได้นำเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชผักและผลไม้ที่ใช้น้ำยาชีวภาพ มาบรรยายแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมการสัมมนาถึงประโยชน์ของการปลูกพืชผักแบบใส่ปุ๋ยชีวภาพ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกมีราคาถูก ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค ตลอดจนได้ผลดีกว่า
อนึ่ง ได้เคยมีบริษัทหนึ่งมาเสนอตนเพื่อขอสนับสนุนปุ๋ยชีวภาพแก่เกษตรกรฟรี โดยตนมิได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทดังกล่าว พร้อมกันนี้ตนก็ได้เชิญชวนให้เกษตรกรพื้นที่ย่านตะวันตกใช้ปุ๋ยชีวภาพ และในการนี้ได้มีเกษตรกร เขตทวีวัฒนาประสงค์จะขอทำการทดลองในแปลงผักจำนวน 1 แปลงจากทั้งหมด 9 แปลงเมื่อทดลองไปได้ระยะหนึ่งแล้ว เกษตรกรได้นำปุ๋ยชีวภาพผสมกับปุ๋ยเคมีจึงทำให้การทดลองล้มเหลว อย่างไรก็ดีเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาได้มีการทดลองใหม่ โดยบริษัทที่เคยสนับสนุนปุ๋ยชีวภาพฟรี ได้ขอเข้าไปทดลองในแปลงผักเดิมจำนวนหนึ่งแปลง และแบ่งการทดลองออกเป็น 2 ส่วนคือ ครึ่งหนึ่งใช้สารเคมีและอีกครึ่งหนึ่ง ใช้ปุ๋ยชีวภาพ จากนั้นก็ได้ทำการเพาะปลูกตามขั้นตอนของบริษัท โดยใส่ปุ๋ยชีวภาพตามหลักวิชาการ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการทดลองประมาณ 35 วัน หลังจากนั้นจึงเข้าไปดูผลแปลงผักดังกล่าว นอกจากนี้ก็ยังมีเกษตรกรในพื้นที่เขตทวีวัฒนาอีก 2 ราย กำลังทดลองปลูกผักคึ่นช่าย กุหลาบ และผักกระจก โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพด้วย--จบ--
-นห-