กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ประสบสถานการณ์อุทกภัยที่วิกฤตในรอบหลายสิบปี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประสบอุทกภัย ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้รัฐบาลดูแลประชาชนอย่างดีที่สุดให้สามารถใช้ชีวิต
ได้อย่างปกติ พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาล โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้บูรณาการทุกภาคส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย จนสถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลาย จึงได้ประสานจังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน พร้อมเยียวยาสงเคราะห์ผู้ประสบภัยในเบื้องต้น และฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในระยะสั้น
› ด้านชีวิต ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยจะได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าจัดการศพตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และเงินช่วยเหลือของภาคส่วนต่างๆ โดยผู้เสียชีวิตแต่ละรายได้รับเงินสงเคราะห์ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ส่วนผู้เสียชีวิตที่เป็นหัวหน้าครอบครัวได้รับเงินสงเคราะห์ไม่ต่ำกว่า 125,000 บาท
› ด้านที่อยู่อาศัย
- สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายของบ้านเรือน โดยพิจารณาความเสียหายจากโครงสร้างหลักของบ้าน แยกเป็น เสียหายทั้งหลัง และเสียหายบางส่วน พร้อมตรวจสอบข้อมูลเชิงพื้นที่ กรณีกรรมสิทธิ์ที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย สามารถช่วยเหลือได้ทันที กรณีไม่มีกรรมสิทธิ์และยังเป็นประเด็นทางกฎหมาย เบื้องต้นสามารถจ่ายเงินเยียวยาได้ หากเสียหายทั้งหลังจ่ายเงินชดเชยหลังละ 33,000 บาท เสียหายบางส่วนจ่ายตามจริงไม่เกินหลังละ 33,000 บาท อีกทั้งให้จังหวัดกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่อย่างเหมาะสม
- กำหนดแนวทางซ่อมแซมบ้านเรือนอย่างเหมาะสม โดยจัดทีมช่างตำบล ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างทหารที่เป็นหน่วยงานหลักนักศึกษาอาชีวศึกษา และเครือข่ายช่าง รวมถึงระบุพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของเจ้าของบ้าน โดยบ้านเรือนที่เสียหายบางส่วน ให้ซ่อมแซมตามสภาพเดิมหรือเสริมโครงสร้างใหม่ส่วนบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง ให้พิจารณานำแบบแปลนบ้านของกรมโยธาธิการและผังเมืองมาเป็นทางเลือกในการก่อสร้างบ้าน
› ด้านการเกษตร แยกเป็น พืช ประมง ปศุสัตว์ และอื่นๆ เกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือต้องมีพื้นที่การเกษตรอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมถึงขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 3,000 บาท เงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังฯ
› ด้านสาธารณูปโภค ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบซ่อมแซมให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว โดยเฉพาะที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากเกินศักยภาพและจำเป็นต้องใช้เงินทดรองราชการ ให้ดำเนินการผ่าน ก.ช.ภ.อ. และ ก.ช.ภ.จ. กรณีเป็นการก่อสร้างเพื่อป้องกันอุทกภัยเชิงโครงสร้าง ให้จังหวัดเสนอโครงการผ่านหน่วยงานรับผิดชอบหลักพิจารณาดำเนินการ
การฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในระยะยาว
- น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน พร้อมสานต่อแนวพระราชดำริด้านการบริการจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่
- บูรณาการการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ โดยให้จังหวัดเชื่อมโยงแผนงานและโครงการบริหารจัดการน้ำ จัดทำผังการระบายน้ำ พร้อมวิเคราะห์ทิศทางการไหลของน้ำ ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อกำหนดพื้นที่รองรับน้ำ และจัดทำทางเบี่ยงน้ำ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยเสริมผิวการจราจร ขยายท่อลอด เสริมความมั่นคงของคอสะพาน ขุดลอกคูคลอง และขยายลำน้ำ เพื่อเพิ่มเส้นทางให้น้ำระบายลงสู่ทะเลโดยเร็ว อีกทั้งนำ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร รวมถึง พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 มาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้วางกรอบแนวทางการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านชีวิต ที่อยู่อาศัยสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม การประกอบอาชีพ อุตสาหกรรม การซ่อมแซมสถานที่ราชการและศาสนสถาน การรักษาความสงบเรียบร้อย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง บกปภ.ช. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานหน่วยงานรับผิดชอบหลักในแต่ละด้านจัดทำแผนฟื้นฟูบูรณะระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อรวบรวมเป็นแผนการฟื้นฟูบูรณะในภาพรวมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดมาตรการฟื้นฟูและจัดสรรงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างเป็นระบบและยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยมุ่งบูรณาการทุกภาคส่วนเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว ควบคู่กับการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะยาว เพื่อให้ประเทศไทยพ้นวิกฤตภัยอุทกภัยอย่างยั่งยืน