กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัยกำชับให้ทีมช่างตำบลเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายโดยเร็ว ทั้งนี้ บกปภ.ช. ได้ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยตามกรอบแนวทางของนายกรัฐมนตรีครอบคลุม 16 ด้าน เพื่อรวบรวมเป็นแผนการฟื้นฟูบูรณะในภาพรวม และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดมาตรการฟื้นฟูและจัดสรรงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป ส่วนแผนระยะยาวมุ่งเน้นการป้องกันเชิงโครงสร้างในภาพรวมทั้งระบบ โดยน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน รวมถึงวางระบบการจัดทำผังการระบายน้ำให้สอดคล้องกับผังเมือง เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และพัทลุง ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ บกปภ.ช. ประสานจังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงวางมาตรการให้การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสม และครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีพ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การประกอบอาชีพ (เกษตร ประมง ปศุสัตว์) โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย จากการสำรวจเบื้องต้นมีบ้านเรือนเสียหายจำนวน 11,818 หลัง แยกเป็น เสียหายทั้งหลัง 314 หลัง และเสียหายบางส่วน 10,504 หลัง โดยเสียหายมาก 788 หลัง เสียหายเล็กน้อย 10,716 หลัง ซึ่งได้ดำเนินการซ่อมแซมไปแล้วจำนวน 5,195 หลัง ส่วนที่เหลือ 6,623 หลัง ได้สั่งการให้จังหวัดจัดทีมช่างตำบล โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยทหาร นักเรียนอาชีวะ ช่างท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ เร่งดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายโดยเร็ว สำหรับบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลังจะใช้แบบแปลนบ้านของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีจะให้การสนับสนุนงบประมาณเฉพาะค่าวัสดุในการก่อสร้างบ้าน วงเงินไม่เกินหลังละ 230,000 บาท โดยขณะนี้มี 9 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง สงขลา และยะลา เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 898 หลัง ซึ่ง บกปภ.ช. จะได้ประสานจัดส่งข้อมูลให้สำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดต่อไป ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 5 มีนาคม 2560 สำหรับด้านชีวิต ผู้เสียชีวิตทุกรายจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และเงินช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ รวมไม่ต่ำกว่า 107,000 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้รับเงินช่วยเหลือไม่ต่ำกว่า 132,000 บาท ในส่วนของการช่วยเหลือด้านการเกษตร ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วม 106,044 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหาย 10,869 ไร่ และปศุสัตว์ 226,804 ตัว ได้เร่งรัดให้ดำเนินการช่วยเหลือตามแผนการเสริมสร้างฟื้นฟูและเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากพื้นที่การเกษตรเสียหายโดยสิ้นเชิงและต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ส่งเสริมการจ้างงาน และอาชีพระยะสั้นตามความเหมาะสม เพื่อให้มีรายได้ในช่วงที่ไม่มีผลผลิตทางการเกษตร ในส่วนของการฟื้นฟูบูรณะ ให้จังหวัดดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยส่งเสริมการจ้างงานในการทำความสะอาดและซ่อมแซมสถานที่ราชการและสิ่งสาธารณประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เสริมในช่วงที่ไม่สามารถประกอบอาชีพหลักได้ ส่วนด้านคมนาคม กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการซ่อมแซมให้ใช้งานได้ตามปกติ และการก่อสร้างใหม่ในเชิงป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัยในระยะยาว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำหนดกรอบแนวทางแผนการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ที่ครอบคลุมทุกมิติ แยกเป็น 16 ด้าน อาทิ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านสาธารณูปโภคการสื่อสารและสารสนเทศ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม ด้านการประกอบอาชีพ ด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในแต่ละด้านจะดำเนินการจัดทำแผนงานทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป
พลเอก อนุพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะยาว จะมุ่งเน้นการป้องกันเชิงโครงสร้างในภาพรวมทั้งระบบ โดยน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ให้สานต่อแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน รวมถึงดำเนินการภายใต้แนวคิด "Build Back Better" ซ่อมสร้างและพัฒนาให้ดีกว่าเดิม ด้วยการวางระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ การสำรวจและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางน้ำไหล การขุดคูคลองเพื่อเพิ่มเส้นทางการไหลของน้ำให้น้ำระบายลงสู่ทะเลโดยเร็ว การวางท่อระบายน้ำลอดใต้ถนน (Block Culvert) การยกและเสริมผิวการจราจรบนเส้นทางน้ำท่วม รวมถึงนำ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 พ.ร.บ.ควบคุมอาคารและที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึง พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 มาบังคับใช้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ ให้จังหวัดร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำผังการระบายน้ำให้สอดคล้องกับผังเมือง เพื่อใช้ผังเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว ทั้งนี้ รัฐบาล โดย บกปภ.ช. ได้มุ่งบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาอุทกภัยและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้การดูแลอย่างดีที่สุด ควบคู่กับการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะยาว เพื่อให้ประเทศไทยพ้นวิกฤตภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืน
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ส่วนหน้า ให้จัดเตรียมแผนงานใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) แผนปฏิบัติการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เน้นการดูแลด้านชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และบ้านพักอาศัย เพื่อจัดทำบัญชีความเสียหายสนับสนุนให้แก่ทีมช่างตำบลและทีมช่วยเหลือในพื้นที่ 2) แผนปฏิบัติการซ่อมแซมฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิม โดยเฉพาะสถานที่ราชการ โรงพยาบาล ระบบสาธารณูปโภค ต้องสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ตามปกติ ซึ่งปัจจุบันสถานที่ราชการ วัด มัสยิด โบสถ์ สามารถเปิดบริการได้ในทุกแห่ง และโรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติแล้ว ในส่วนของสิ่งสาธารณประโยชน์ให้จัดทีมสำรวจความเสียหายเฉพาะด้าน เพื่อประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขต่อไป 3) แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยให้ถอดบทเรียนสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ให้จังหวัดกำหนดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบในแต่ละด้าน เพื่อให้การจัดการหลังเกิดอุทกภัยมีเอกภาพ ส่งผลให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยมีความเหมาะสมและครอบคลุมทุกพื้นที่
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้กำชับให้จังหวัดเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยยึดการดำเนินงานตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมทั้งนี้ การจัดการปัญหาอุทกภัยภาคใต้ในครั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระยะเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติเท่านั้น แต่ได้วางแนวทางการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาอุทกภัยภาพรวมทั้งระบบ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ครอบคลุมทุกด้าน ซึ่ง บกปภ.ช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย เพื่อรวบรวมเป็นแผนการฟื้นฟูบูรณะในภาพรวม และเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กปภ.ช. และคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดมาตรการฟื้นฟูและจัดสรรงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป