กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ โดยปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง รวม 6 อำเภอ 24 ตำบล 84 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,412 ครัวเรือน 11,269 คน ในช่วงวันที่ 3 – 6 กุมภาพันธ์ 2560 จะมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง บกปภ.ช. จึงได้ประสานให้จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล พร้อมกำชับจังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลและช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน ส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประสบภัย รวมถึงใช้สารจุลินทรีย์ป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสีย ตลอดจนประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่อาจซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบภัย
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยเข้าร่วมประชุมฯ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมคลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 9 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพรประจวบคีรีขันธ์ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา ยังคงมีสถานการณ์ใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง รวม 6 อำเภอ 24 ตำบล 84 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,412 ครัวเรือน 11,269 คน ซึ่งจากการติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ภาคใต้มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยในช่วงวันที่ 1 – 2 กุมภาพันธ์ 2560 จะมีฝนตกเล็กน้อย ส่วนในช่วงวันที่ 3 – 6 กุมภาพันธ์ 2560 จะมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยเฉพาะ 3 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอพุนพิน อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอดอนสัก นครศรีธรรมราช 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอนบพิตำ อำเภอท่าศาลา อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอชะอวด พัทลุง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าพะยอม อำเภอควนขนุน และอำเภอเมืองพัทลุง หลังจากนั้นฝนจะลดลง จึงขอให้จังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนสะสม โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง บกปภ.ช. ได้ประสานให้จังหวัดเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล ควบคู่กับการสำรองน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงบูรณาการการเคลื่อนย้ายกำลังคนและวัสดุอุปกรณ์จากพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายไปประจำจุดที่สถานการณ์ยังวิกฤต โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำหรือสันดอนกลางน้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำและจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยในการแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
นายชยพล กล่าวต่อไปว่า ระยะนี้สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่ บกปภ.ช. จึงได้ปรับแผนการดำเนินงานจากการจัดการในภาวะฉุกเฉินเข้าสู่กระบวนการเยียวยาผู้ประสบภัยและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่ง บกปภ.ช.ประสานจังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อวางมาตรการให้การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสมและครอบคลุม ทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีพ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การประกอบอาชีพ (เกษตร ประมง ปศุสัตว์) โดยด้านที่อยู่อาศัยให้จังหวัด จัดทีมช่างตำบล ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยทหาร นักเรียนอาชีวะ ช่างท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ ในการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย โดยใช้แบบแปลนบ้านของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีจะให้การสนับสนุนงบประมาณเฉพาะค่าวัสดุในการก่อสร้างบ้าน วงเงินไม่เกินหลังละ 230,000 บาท จึงขอให้จังหวัดตรวจสอบข้อมูลบ้านเรือนทั้งที่สามารถซ่อมแซมได้เองและดำเนินการไปแล้ว รวมถึงบ้านเรือน ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพื่อคำนวณวงเงินงบประมาณที่จังหวัดต้องการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าสำรวจระบบไฟฟ้าภายในบ้านที่ประสบอุทกภัย เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า และประสานการประปาส่วนภูมิภาคตรวจสอบระบบประปาที่ได้รับความเสียหาย เพื่อซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน สำหรับด้านการประกอบอาชีพ บกปภ.ช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจข้อมูลสถานประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมประสานจังหวัดใช้เงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ จ้างงานประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ และฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประสบภัย นอกจากนี้ ให้จังหวัดป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยใช้สารจุลินทรีย์ (EM Ball) ในพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน รวมถึงประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนระมัดระวังโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นภายหลังน้ำลด ตลอดจนประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่อาจซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ทั้งนี้ บกปภ.ช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานฟื้นฟูพื้นที่ ประสบภัยทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อรวบรวมเป็นแผนการฟื้นฟูบูรณะในภาพรวม และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดมาตรการฟื้นฟูและจัดสรรงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป