กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ สำหรับสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้วทุกจังหวัด บกปภ.ช.จึงได้สั่งการให้จังหวัดตรวจสอบข้อมูลความเสียหายจากอุทกภัยให้ถูกต้องครบถ้วน และครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ต้องซ่อมแซมบ้านเรือนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ด้านการประกอบอาชีพ จังหวัดต้องจ่ายเงินเยียวยาแก่เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย นอกจากนี้ ได้ประสานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ภาคใต้ 111 จุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเพิ่มเส้นทางให้น้ำระบายลงสู่ทะเลโดยเร็ว
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช. เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยเข้าร่วมประชุมฯ สำหรับสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้วทุกจังหวัด ระดับน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ปกติ และอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย บกปภ.ช.จึงได้ สั่งการให้จังหวัดตรวจสอบข้อมูลความเสียหายจากอุทกภัยให้ถูกต้องครบถ้วน และครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ให้ยืนยันข้อมูลจำนวนบ้านเรือนที่ต้องดำเนินการซ่อมแซม รวมถึงประมาณวงเงินงบประมาณที่ต้องการขอรับความสนับสนุน จากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อประสานขอรับการช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ซ่อมแซมบ้านเรือนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 5 มีนาคม 2560 บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจะต้องได้รับการช่วยเหลือหรือซ่อมแซมแล้วเสร็จครบทุกหลัง สำหรับด้านการประกอบอาชีพ ทั้งเกษตร ประมง ปศุสัตว์ จังหวัดต้องจ่ายเงินเยียวยาแก่เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย ทั้งเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 3,000 บาท แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ นอกจากนี้ จากการสำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำของพื้นที่ภาคใต้ มีทั้งหมด 111 จุด ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว บกปภ.ช.จึงได้ประสานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจุดกีดขวางทางน้ำดังกล่าว อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งแก้ไขปัญหา โดยวางมาตรการป้องกันเชิงโครงสร้าง เพื่อแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้งระยะกลางและระยะยาว ด้วยการเสริมผิวการจราจร ขยายท่อลอด (Box culvert) หรือรื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเพิ่มเส้นทางให้น้ำระบายลงสู่ทะเลโดยเร็ว ที่สำคัญ ให้จังหวัดพัฒนาระบบการเตือนภัย ทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการตรวจสอบ วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ และแจ้งเตือนแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้วยการนำแนวคิดการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานมาใช้ในการส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในเบื้องต้นด้วยตนเอง