กรมควบคุมโรคติดต่อเตือนโรคปอดบวมในเด็กอาจรักษายากขึ้นเพราะเป็นเชื้อที่ดื้อยา

ข่าวทั่วไป Wednesday July 26, 2000 11:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กรมควบคุมโรคติดต่อ
แพทย์เตือนโรคปอดบวมในเด็กอาจรักษายากขึ้น เนื่องจากเป็นเชื้อที่ดื้อ ยาปฏิชีวนะตัวพื้นฐานคือ เพนนิซิลลิน และโคทรัยมอกซาโซน ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานของประชาชนเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดเล็กน้อย โดยอัตราการดื้อยา เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าร้อยละ 10 เหตุเพราะการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ
น.พ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการกองวัณโรค กรมควบคุมโรคติดต่อ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของโรคปอดบวม ว่า ปัจจุบันโรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุ การตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากเป็นอันดับ 1 ของสาเหตุการตายทั้งหมด โดยช่วงที่เด็กป่วยกันมาก มักเกิดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งการป่วยเป็นโรคปอดบวมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดแทรกซ้อนมาจากการ ป่วยเป็นไข้หวัดก่อน
น.พ.ภาสกร กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปเด็กจะเป็นหวัดได้ปีละ 6-8 ครั้ง เชื้อที่เป็นเหตุของไข้หวัดในเด็กกว่าร้อยละ 90 เกิดจากเชื้อไวรัส มีส่วนน้อยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาการป่วยจะหายเองได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ผู้ปกครองมักจะเกิดความวิตกกังวลเกรงว่าลูกจะเป็นมาก จึงนิยมซื้อยาปฏิชีวนะพื้นฐานที่รักษา โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจมากินเพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ ที่นิยม ได้แก่ ยาเพนนิซิลลิน (Penicilin) และโคทรัยม็อกซาโซน (Cotrimoxazole) ปัจจุบันพบว่ามีอยู่ประมาณร้อยละ 47 สูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวง สาธารณสุขกำหนด โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลเอกชน ยังพบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะ สูงมาก อีกทั้งในท้องตลาดยังมียาแก้ไอที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะอยู่ ขณะที่ผลของการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยามากขึ้น โดยเฉพาะการดื้อยาเพนนิซิลลิน และโคทรัยม็อกซาโซน
“จากการติดตามสถานการณ์ดื้อยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 6 แห่ง ทั่วประเทศ ทุก 3 ปี ล่าสุดพบว่าอัตราการดื้อยา 2 ตัวนี้ ปรากฏเพิ่มขึ้นชัดเจนมาก โดยเฉพาะเชื้อสเต็บโตคอคคัสนิวโมเนีย ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของโรคปอดบวม มีการดื้อต่อยาโคทรัยม็อกซาโซนจากร้อยละ 36 ในปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 56 ใน พ.ศ. 2540 และดื้อต่อยาเพนนิซิลินจากร้อยละ 72 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 86 ในปีเดียวกัน การดื้อยาของเชื้อตัวนี้จะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเพราะจะทำให้แพทย์ต้องใช้ยาปฏิชีวนะสูงขึ้น และแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งจะไม่มียาใช้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยอีกจำนวนมากต้องเสียชีวิตในที่สุด”
น.พ.ภาสกร กล่าวด้วยว่า ขอให้ผู้ปกครองเด็กระมัดระวังในการใช้ยา แพทย์ผู้รักษาควรคำนึง ถึงปัญหาเหล่านี้ ควรใช้ยาปฏิชีวนะให้เหมาะสม และไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัดอย่างพร่ำเพรื่อ โดยขาดการวิเคราะห์ที่เหมาะสม การป้องกันโรคหวัดที่ดีที่สุดก็คือการพักผ่อนที่ดี รับประทานอาหารที่มีคุณค่า และการออกกำลังกาย สามารถทำได้กับทุกเพศทุกวัย หากร่างกายเราแข็งแรงจะมีภูมิต้านทานโรคไม่ให้ติดเชื้อได้ง่าย--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ