กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
วว. ผนึกกำลังจังหวัดสระบุรี อบต.ตาลเดี่ยว มุ่งสร้างต้นแบบการคัดแยกขยะชุมชน หวังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกในชุมชนให้ยั่งยืน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผนึกกำลังจังหวัดสระบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว มุ่งสร้างต้นแบบการคัดแยกขยะชุมชน ขับเคลื่อนนโยบายโครงการจังหวัดสะอาด รัฐบาลหวังแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม/ขยะพลาสติกในชุมชน ด้วยผลงานวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืนของประเทศ
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ผนึกกำลังกับจังหวัดสระบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว ในการนำผลงานวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในชุมชน ภายใต้ "โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน" ทั้งนี้ วว. จะนำประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับชุมชนและหมู่บ้าน โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นเครื่องมือในการดำเนินโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม ร่วมกับพันธมิตรทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนที่ต้นทาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่กำหนดให้มีการเร่งรัดการควบคุมมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำเสีย และขยะ อันเกิดจากการผลิตและบริโภค เพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ประชาชน ในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างเป็นต้นแบบการคัดแยกขยะชุมชน ทั้งในรูปแบบการฝึกอบรมสร้างองค์ความรู้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมภายในประเทศ อาทิ เทคโนโลยีการคัดแยกขยะชุมชนและกำจัดกลิ่นโดยระบบกึ่งอัตโนมัติ เทคโนโลยีการคัดแยกชนิดและสีของขยะพลาสติก โดยระบบ NIR พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติก และเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อมจากประเภทขยะชุมชนและสิ่งเหลือทิ้ง เพื่อแก้ไขปัญหาขยะชุมชนทั้งขยะเก่าและขยะใหม่
"…ขยะมูลฝอยชุมชนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน จากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยในปี 2558 ขยะชุมชนมีปริมาณขยะสะสม 26.1 ล้านตันต่อปี ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 14.8 ล้านตันต่อปี กำจัดไม่ถูกต้อง 6.8 ล้านตันต่อปี สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้เพียง 4.5 ล้านตันต่อปีเท่านั้น โดยทั่วประเทศมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอยู่ทั้งหมด 2,490 แห่ง เป็นสถานที่ที่มีการกำจัดขยะมูลฝอยแบบถูกต้องปลอดภัยเพียง 466 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 19) และมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบไม่ถูกต้อง เช่น การเทกองกลางแจ้งอยู่ถึง 2,024 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 81)
จากข้อมูลของปัญหาดังกล่าว วว. จึงได้ผนึกกำลังกับจังหวัดสระบุรีและอบจ.ตาลเดี่ยว ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายจังหวัดวิกฤตตามนโยบายกำจัดขยะของรัฐบาล เพื่อสร้างโอกาสให้กับพื้นที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งหวังให้เกิดเป็นชุมชนต้นแบบการจัดการขยะที่ต้นทางแบบไม่กระจาย อีกทั้งเป็นการใช้นวัตกรรมในการจัดการขยะจากบ่อเก่าและบ่อใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดสะอาดให้เกิดเป็นรูปธรรม…" ผู้ว่าการ วว. กล่าว
นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรีเป็นพื้นที่หนึ่งในอีกหลายๆ พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนทั้งขยะเก่าตกค้างสะสมและขยะใหม่ ซึ่งมีปัญหาสำคัญคือการจัดการขยะชุมชนแบบไม่ถูกวิธี โดยการกองทิ้งกลางแจ้ง ทั้งนี้จังหวัดสระบุรีมีหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 109 แห่ง ซึ่งมีความแตกต่างกันของประเภทขยะ ทั้งขยะเมือง ขยะภาคการเกษตร และขยะอุตสาหกรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ต้องมีความรู้ในแนวทางการจัดการขยะที่มีลักษณะแตกต่างกันเหล่านี้ อีกทั้งจังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีการขยายตัวเมืองอย่างต่อเนื่อง และการขยายตัวนี้ส่งผลต่อปริมาณประชากรที่อยู่อาศัย โดยผลที่ตามมาคือ ปริมาณขยะซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเชื่อมั่นว่าในการดำเนินงานบูรณาการร่วมกับ วว. ในครั้งนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาขยะของจังหวัดสระบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นายมงคล สุขศิลา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว กล่าวว่า อบต. ตาลเดี่ยว จัดเป็น อบต.ขนาดกลาง มีจำนวน 11 หมู่บ้าน มีปัญหาของพื้นที่ คือ การผสมผสานระหว่างชุมชนเมือง เกษตรกรรม และ อุตสาหกรรม ทำให้ขยะมีองค์ประกอบที่แตกต่างจากเขตอื่นๆ อีกทั้ง อบต.ตาลเดี่ยว จัดเป็นเขตเมืองที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีปริมาณขยะเก่าตกค้างสะสมสูงที่ยังไม่ได้มีการจัดการแต่อย่างใด และเป็นการกองทิ้งกลางแจ้งซึ่งอาจส่งผลในอนาคต จำเป็นต้องมีแหล่งการจัดการขยะที่ถูกวิธี เพื่อสอดรับกับการขยายตัวของเมืองและประชากร ดังนั้นการที่ วว. เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหานี้จึงมีความมั่นใจและพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ เพื่อความยั่งยืนของพื้นที่ อบต. ตาลเดี่ยวต่อไป
อนึ่ง การขับเคลื่อนนโยบายจากภาครัฐบาลสู่โครงการจังหวัดสะอาด มีแนวทางการปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559 คือ จะมีกรอบการดำเนินงานศึกษาแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน โดยใช้หลักการ 3Rs และหลักประชารัฐ ซึ่งหนึ่งในบริบทนโยบายจังหวัดสะอาด 3Rs ประชารัฐนั้น ต้องมีการจัดการขยะชุมชนด้วยการมีส่วนร่วมจากหมู่บ้านหรือชุมชน โดยการคัดแยกขยะที่ต้นทางโดยระบบ 3Rs จะเน้น 3 เป้าหมาย ดังนี้
เป้าหมายที่ 1 คือ สามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เข้าระบบการจัดการขยะลงร้อยละ 5 จากปี 2559
เป้าหมายที่สอง คือ ทุกภาคส่วนในชุมชนมีการคัดแยกขยะที่ต้นทางอย่างถูกวิธี
เป้าหมายที่สาม คือ ร้อยละ 100 ของหมู่บ้านหรือชุมชนมีการจัดตั้งจุดรวมขยะอันตราย