กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ทำเนียบรัฐบาล
คณะรัฐมนตรีรับทราบการพิจารณาคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนในธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ สรุปได้ดังนี้
คณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนในธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนในธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ตามแนวทางการจำหน่ายธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบไว้แล้ว โดยที่ปรึกษาทางการเงิน (Morgan Stanley Dean Witter) ได้ดำเนินการติดต่อผู้ลงทุนจำนวน 73 ราย ที่เห็นว่าเป็นผู้ลงทุนที่มีศักยภาพทางการเงิน และมีความรู้ความชำนาญด้านการธนาคาร ประกอบกับมีความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทย โดยเป็นผู้ลงทุนในประเทศไทย 4 ราย และในจำนวนนี้มีผู้ลงทุน 24 ราย ที่ลงนามใน Confidentiality Agreement และได้รับ Information Memorandum เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2542 ผลปรากฏว่ามีผู้ยื่นคำเสนอซื้อรอบแรก 5 ราย คือ Hongkong and Shanghai Banking Corporation Limited (HSBC), General Electric Capital Services (GE Capital), Newbridge Asia (Newbridge), The Carlyle Group (Carlyle) และ American Asset Acquisition Corporation (AAAC) แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ยื่นความจำนงที่จะลงทุนในธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) มาภายหลังวันปิดรับข้อเสนอรอบแรก 3 ราย คือ Ankar/Scotia, Australia and New Zealand Banking Group (ANZ) และ Crystal Treasury Holdings ซึ่งคณะกรรมการได้รับไว้พิจารณาคัดเลือกเข้าทำ Due Dilligence เพิ่มเติม ปรากฏว่า ผู้ลงทุนผ่านการคัดเลือกให้เข้าทำ Due Dillligence ในธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งสิ้น 5 ราย คือ HSBC, GE Capital, Newbridge, Ankar/Scotia และ ANZ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการรับข้อเสนอ ปรากฏว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอเพียง 2 ราย คือ Newbridge และ Ankar โดยมี Newbridge เป็นผู้เสนอร่วมลงทุนที่ดีที่สุด และได้มีการต่อรองเพื่อให้ Newbridge ปรับปรุงข้อเสนอให้ดีขึ้นหลายครั้ง ผลสุดท้ายคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนฯ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2543 มีมติไม่รับข้อเสนอของ Newbridge และยุติการเจรจา เนื่องจากคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนฯ ได้เปรียบเทียบข้อเสนอของ Newbridge กับข้อเสนอของผู้ร่วมลงทุนในธนาคารของรัฐที่ได้ดำเนินการจำหน่ายเสร็จแล้ว คือ ธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) และธนาคารรัตนสิน จำกัด (มหาชน) รวมทั้งธนาคารศรีนครจำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ตกลงในหลักการกับ HSBC Holding BV แล้วเห็นว่า ข้อเสนอของ Newbridge ไม่ร่วมรับผลขาดทุนในลูกหนี้ และต้องการได้รับการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (Yield Maintenance) ในอัตราที่สูงมากเป็นการเพิ่มภาระให้กับทางการมากกว่าของ 3 กรณีดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว จึงเห็นไม่ควรรับข้อเสนอของ Newbridge และยุติการเจรจา ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินได้ประมาณว่าภาระที่เกิดขึ้นกับกองทุนฯ หากรับข้อเสนอของ Newbridge จะอยู่ระหว่าง 125.4 - 175.2 พันล้านบาท นอกจากนี้แล้ว โอกาสในการเจรจาให้ Newbridge ปรับปรุงข้อเสนอเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการจำหน่ายกิจการของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นไปได้ยาก และคงไม่สามารถได้ข้อยุติ เนื่องจาก Newbridge เป็นผู้ลงทุนสถาบัน (Financial Investor) ซึ่งมีความสนใจที่จะได้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสูง ในลักษณะการเข้ามาซื้อหุ้นและขายหุ้นในระยะเวลาที่สั้นกว่าผู้ร่วมลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) เช่น HSBC, Standard Chartered Bank หรือ UOB
กระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วมีความเห็น ดังนี้
1. การดำเนินการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนในธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นไปอย่างมีขั้นตอนที่ชัดเจน คือมีการดำเนินการตามกรอบแนวทางซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีมาแล้ว และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ร่วมลงทุน โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกที่ชัดเจน และยึดหลักเพื่อประโยชน์สูงสุดของทางการ
2. เนื่องจากไม่มีผู้สนใจร่วมลงทุนรายใดมีข้อเสนอที่ดีเพียงพอ กระทรวงการคลังจึงเห็นชอบให้ยุติการเจรจาตามคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนฯ เสนอ และขณะนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอยู่ระหว่างการเร่งหาวิธีการที่เหมาะสมในการดำเนินการกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เช่น อาจใช้วิธีแยกสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมดไปไว้ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นเจ้าของ หรือคงสถานะของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)ไว้ตามเดิม เพียงแต่แยกสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไว้ใน Covered Asset Pool และกำหนดให้มี Yield Maintenance และ Gain/Loss Sharing เช่นเดียวกับแนวทางการชดเชยลูกหนี้ด้อยคุณภาพในกรณีของธนาคารไทยธนาคารฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไปแล้ว เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็ยังคงเปิดโอกาสให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนในธนาคารนครหลวงไทยฯ ได้
3. กระทรวงการคลังขอเรียนว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายในการดำเนินการกับธนาคารนครหลวงไทยฯที่ชัดเจน คือ ยึดหลักให้ก่อประโยชน์สูงสุดต่อทางการ ไม่เป็นการปิดธนาคารนครหลวงไทยฯ ไม่ก่อผลกระทบต่อผู้ฝากเงินจัดให้มีการจัดการที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่พนักงานของธนาคารนครหลวงไทยฯ และคำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ ด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะกระจายหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยฯ เพื่อให้กลายเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนในเวลาที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ จะได้กำชับให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเร่งพิจารณาแนวทางดำเนินการที่ดีที่สุดเสนอโดยเร็วต่อไป--จบ--
-สส-