กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ผศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความเป็นสากล และทีมนักวิจัย Smart Lab มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เผยผลงานของ Smart Lab มจธ. ว่าสามารถสร้างอุปกรณ์อุดผนังหัวใจเพื่อใช้ในการรักษา สามารถปิดรูรั่วหัวใจได้โดยไม่ต้องผ่าตัดได้สำเร็จ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นการคิดค้นสร้างอุปกรณ์อุดผนังหัวใจ (Occluder) เพื่อทำหน้าที่คล้ายกับเป็นร่ม 2 ชั้นประกบกันเพื่อปิดรูรั่วโดยการใส่สายอุปกรณ์ขนาดเล็กเข้าไปทางเส้นเลือดใหญ่บริเวณหน้าขา วิธีการดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลงและพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1-2 วันก็สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายค่ารักษาและค่าอุปกรณ์อุดผนังหัวใจที่มีราคาสูงมาก และยังลดการนำเข้าจากบริษัทต่างประเทศได้อีกด้วย
ทั้งนี้ โรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (Atrial Septal Defect: ASD) เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดหนึ่งที่มีผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว ทำให้เลือดไหลออกจากหัวใจห้องบนซ้ายไปยังห้องบนขวาได้ในจังหวะที่หัวใจบีบตัว ซึ่งพบได้ร้อยละ 10 ของโรคหัวใจแต่กำเนิดทั้งหมด โรคผนังหัวใจห้องบนรั่วที่พบบ่อยคือประเภทที่มีรูรั่วตรงกลางผนังกั้นหัวใจ (ASD Secundum) ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเหนื่อยเวลาออกแรง ใจสั่น อาการบวม น้ำท่วมปอด อัมพาต และหัวใจโต
ผศ.ดร.อรรฆ กล่าวว่า อุปกรณ์อุดผนังหัวใจจากลวดโลหะผสมจำรูป ผลิตจากโลหะผสมนิกเกิลไทเทเนียมที่มีสมบัติยืดหยุ่นยิ่งยวด(Superelastic) ที่สามารถควบคุมสมบัติทางกลและทางชีวภาพได้ อีกทั้งยังได้พัฒนากระบวนการผลิตที่จะนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมเพื่อที่จะลดการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ ลดราคาค่าอุปกรณ์ ช่วยให้การรักษาเข้าถึงผู้ป่วยทุกคน และนับเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ ที่สามารถปิดรูรั่วของหัวใจได้โดยไม่ต้องผ่าตัด.