กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ เผยคืบหน้าเตรียมพร้อมจัดสรรที่ดินให้เกษตรกร พร้อมแจงกรณีกิจการกังหันลมผลิตไฟฟ้าในเขตปฏิรูปที่ดิน เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงอีก 18 บริษัท อย่างรอบคอบทุกมิติ ยึดหลักเกณฑ์การทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายพร้อมคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส.ป.ก. ว่า หลังจากที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส.ป.ก. มีเป้าหมายจำนวน 438 แปลง เนื้อที่ 443,501 ไร่ ใน 28 จังหวัด นั้น ขณะนี้มีพื้นที่ยึดคืนมาได้ จำนวน 310,167 ไร่ คืนให้ผู้ครอบครองเดิมเนื่องจากมีหลักฐานการครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน เนื้อที่ 126,919 ไร่ และส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาให้ความชัดเจนสถานะของที่ดินว่าอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินหรือเขตป่าไม้ 6,415 ไร่ โดยในปี 2560 นี้ มีแผนการดำเนินการพัฒนาที่ดินที่ยึดคืนมาได้ พัฒนาปรับปรุงที่ดินให้มีความพร้อมเพื่อส่งมอบให้ คทช.เป้าหมาย 100,000 ไร่ โดยระยะที่ 1 จำนวน 33 แปลง เนื้อที่ประมาณ 30,000 ไร่ ส่วนระยะที่ 2 จำนวน 70,000 ไร่ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560
ทั้งนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินงานปรับปรุงพัฒนาที่ดินก่อนส่งมอบพื้นที่ให้แก่ คทช.โดยบูรณาการกับกรมชลประทาน สำรวจออกแบบวางผังแม่บทการพัฒนาแล้ว 17 แปลง คือ จังหวัดนครราชสีมา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ กาญจนบุรี ชลบุรี และสระแก้ว ด้านงานปรับพื้นที่และปรับปรุงถนน ส.ป.ก. ร่วมกับหน่วยงานทหารช่าง เริ่มดำเนินการแล้ว 5 แปลง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี ด้านงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ได้รับความร่วมมือดำเนินการหาและสร้างแหล่งน้ำโดยกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เริ่มดำเนินการแล้ว 6 แปลง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกาญจนบุรี
ด้าน นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนการอนุญาตให้ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ 39 ไร่ ว่า ส.ป.ก. ต้องใช้ที่ดินเพื่อให้เกษตรกรใช้ทำการเกษตรเป็นสำคัญมากกว่าการใช้ที่ดินเพื่อการอื่น โดยการใช้ที่ดินเพื่อการอื่นเกษตรกรจะต้องได้รับประโยชน์จากกิจการนั้นโดยตรง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาล (เฉพาะคดีนี้) กิจการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลมมิได้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีก 18 บริษัท อยู่ในพื้นที่ 2 จังหวัด จังหวัดนครราชสีมา 7 บริษัท เนื้อที่ประมาณ 280 ไร่ จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 11 บริษัท เนื้อที่ประมาณ 341 ไร่ และยกเลิก 1 บริษัท คือ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งกระบวนการยกเลิกกำหนดไว้ภายใน 15 วัน หลังจากที่มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแล้ว ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 นี้
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารสัญญาทั้งหมดของ 18 บริษัท ว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร เทียบกับบริษัท เทพสถิต วินด์ ฟาร์ม จำกัด โดยทีมกฎหมายของ ส.ป.ก. และทีมกฎหมายของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและทำงานทันต่อเวลา ดังนั้น ภายใน 7 วัน จะทราบผลว่าใน 18 บริษัทนั้น แต่ละบริษัทจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และมีวิธีแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างไร อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนร่วมด้วยเช่น บริษัทใดที่ผลิตให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแล้ว จ่ายไฟให้ประชาชนได้ใช้แล้ว หากหยุดกิจการ จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนเกี่ยวกับการใช้ไฟ โดยยึดถือหลักเกณฑ์การทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดย ส.ป.ก. ต้องตรวจสอบเอกสารสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งหลักเกณฑ์ตามสัญญาที่ทาง ส.ป.ก. ต้องตรวจสอบ คือ (1) จ่ายไฟให้กับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเท่านั้น (2)จ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่ ส.ป.ก. (3) จัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลเกษตรกร เช่น ส่งเสริมการจ้างงาน (4) ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีดำเนินการจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว 3 บริษัท บริษัท เทพพนา วินด์ฟาร์ม จำกัด บริษัท ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม จำกัด และบริษัท วะตะแบก วินด์ จำกัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ"
ทั้งนี้ การตรวจสอบข้อเท็จจริงมีขึ้นตอน ดังนี้ คือ
1.ตรวจสอบข้อมูลเอกสาร เช่น คำขออนุญาต เอกสารประกอบคำขออนุญาต มติ คปจ. และสัญญาเช่า
2. ตรวจลักษณะพื้นที่ที่ตั้งโครงการ
3. การดำเนินการ หรือความคืบหน้า ของผู้ประกอบการหลังจาก คปจ. มีมติอนุญาต
4. ลงพื้นที่ตรวจสอบผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ
5. วิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข
สำหรับแนวทางแก้ไขหากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว คือ 1) ยกเลิกเพิกถอน ในส่วนที่พบว่าการอนุญาตไม่เป็นตามกฎหมาย และ 2) ภายหลังหากมีข้อเท็จจริงหรือเหตุที่ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง คู่กรณีมีสิทธิร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้ เพราะถือว่ามีข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ตามมาตรา 54 วิ.ปกครอง