กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เผยข้อมูลต้นทุนการผลิตสินค้าเศรษฐกิจสำคัญ 3 ชนิด ในจังหวัดพะเยา ระบุ ในพื้นที่เหมาะสมมาก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 ผลผลิตเฉลี่ย/ไร่ 1,028 กก. ข้าวเหนียวนาปี ผลผลิต 577 กก. ในขณะที่ถั่วลิสง ไม่มีแผนที่ความเหมาะสมตาม Agri -Map ให้ผลผลิตเฉลี่ย 333 กก./ไร่
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดเก็บข้อมูลต้นทุนการผลิตสินค้าเศรษฐกิจสำคัญปี 2559 จังหวัดพะเยา ได้แก่ ข้าวเหนียวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วลิสง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) พบว่า
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 พื้นที่เหมาะสมมาก (S1+S2) ผลผลิตเฉลี่ย/ไร่ 1,028 กก. ผลตอบแทนสุทธิ/ไร่ 2,168.70 บาท ผลตอบแทนเงินสด/ไร่ 3,475.22 บาท ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3+N) ผลผลิตเฉลี่ย/ไร่ 866 กก. ผลตอบแทนสุทธิ/ไร่ 787.49 บาท ผลตอบแทนเงินสด/ไร่ 2,693.28 บาท
ข้าวเหนียวนาปี พื้นที่เหมาะสมมาก ผลผลิตเฉลี่ย/ไร่ 577 กก. ผลตอบแทนสุทธิ/ไร่ 1,325.62 บาท ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม ผลผลิตเฉลี่ย/ไร่ 465 กก. มีผลตอบแทนสุทธิ/ไร่ 1,466.67 บาท อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ผลตอบแทนพื้นที่เหมาะสมมาก ต่ำกว่าพื้นที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากในรอบการผลิตปี 2559 แหล่งผลิตที่เหมาะสมมาก ประสบปัญหาเรื่องโรคแมลงอย่างรุนแรงกว่าทุกๆ ปี จากปริมาณฝนตกที่มากกว่าปีปกติ และการใช้พื้นที่ปลูกข้าวทั้งนาปี และนาปรังอย่างต่อเนื่องทำให้มีการสะสมโรค ผลผลิตที่ได้จึงต่ำกว่าปีปกติ ประกอบกับค่าใช้ที่ดินค่อนข้างสูง ถึงแม้ว่าจะมีผลผลิต/ไร่ที่สูงกว่าพื้นที่ไม่เหมาะสมก็ตาม แต่ต้นทุนการผลิตรวมสูงกว่า ดังนั้น จึงทำให้ผลตอบแทนสุทธิ/ไร่ ต่ำกว่าพื้นที่ไม่เหมาะสม แต่หากเมื่อพิจารณาในเรื่องผลตอบแทนเงินสด/ไร่ จะพบว่า พื้นที่เหมาะสมมากให้ผลตอบแทน 4,790.54 บาท มากกว่าพื้นที่ไม่เหมาะสมที่ให้ผลตอบแทนเงินสด 3,463.95 บาท เนื่องจากต้นทุนเงินสดของพื้นที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมอยู่ในระดับใกล้เคียงกันไร่ละ 2,133.46 บาท และ 2,116.05 บาท ในขณะที่รายได้/ไร่ ในพื้นที่เหมาะสมมากอยู่ที่ 6,924 บาท มากกว่าพื้นที่ไม่เหมาะสม ที่มีรายได้/ไร่ อยู่ที่ 5,580 บาท จึงทำให้ผลตอบแทนเงินสดพื้นที่เหมาะสมมากมากกว่าพื้นที่ไม่เหมาะสม
ถั่วลิสง ไม่มีแผนที่ความเหมาะสมตาม Agri -Map โดยพบว่า ให้ผลผลิตเฉลี่ย/ไร่ 333 กก. มีผลตอบแทนสุทธิ/ไร่ -1,760 บาท ซึ่งหมายถึงขาดทุน แต่เมื่อพิจารณาในเรื่องผลตอบแทนเงินสด พบว่า มีผลตอบแทน 6,731 บาท/ไร่ เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่เป็นการใช้แรงงานตนเองและที่ดินที่ทำการผลิตเป็นของตนเอง ไม่มีการเช่าที่ทำกิน จึงทำให้ผลตอบแทนเงินสด/ไร่ สูง
ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ โทร.053 121 318 หรือzone1@oae.go.th