กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
การพาประเทศไทยก้าวไปสู่ "Thailand 4.0" ต้องเริ่มที่การสร้างเด็กและเยาวชนที่จะกลายเป็นพลเมืองของอนาคตให้รู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก มีสำนึกรักบ้านเกิด รู้คุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อที่พวกเขาจะได้มีศักยภาพพร้อมจะขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีบนฐานของเศรษฐกิจพอเพียง
"ไทยแลนด์ 4.0" นโยบายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน โดยเน้นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ แล้วพึ่งพากันเอง จากนั้นจึงรวมเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่หมุนด้วยเทคโนโลยีที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาทุกวัน
ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะพาประเทศไปถึงเป้าหมายดังกล่าวคือ "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์" ซึ่งหากต้องการให้พัฒนาอย่างแข็งแรงและยั่งยืน ควรเริ่มที่กลุ่มคนผู้จะมาเป็นกำลังหลักของประเทศในอนาคต นั่นคือ "เด็กและเยาวชน" ด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีโอกาสแสดงศักยภาพตามความสนใจ
เฉกเช่นที่โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีความเชื่อมาตลอดว่า "การเรียนรู้ที่ดีที่สุดเกิดจากการลงมือทำ" จึงส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในภาคตะวันตก ประกอบด้วย สมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี ได้ทำโครงการบนฐานทุนของชุมชน (Community Project) มาเป็นเวลากว่า 2 ปี
จากการทำโครงการในปีที่ 2 ตลอดเวลาหลายเดือน เหล่าเด็กและเยาวชนต่างได้ "ตกผลึกความรู้" เรื่องราวของชุมชน จนสามารถคลี่คลายปัญหาได้บางส่วนหรือพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้าน และ "ตระหนักรู้รัก" ในท้องถิ่น เกิดสายใยความผูกพันและภาคภูมิใจในท้องถิ่น จึงต้องการนำเรื่องราวดีๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่พวกเขา ทั้งความคิด นิสัย และภายในหัวใจที่เบ่งบานด้วย "สำนึกพลเมือง" มาบอกเล่าในงานมหกรรมพลังเด็กและเยาวชนภาคตะวันตกครั้งที่ 2 "ก้าวกล้า การศึกษา เพื่อสร้างพลเมือง ตามรอยเท้าพ่อ" โดยมีเป้าหมาย เพื่อส่งต่อสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้และค้นพบแก่เด็กและผู้ใหญ่ในตะวันตก ให้ได้ซาบซึ้งถึงวิถีชีวิต ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และทรัพยากรของภาคตะวันตกที่มีอยู่หรือบางสิ่งก็ใกล้สูญหาย ไม่ว่าจะเป็น การทำน้ำตาลมะพร้าว การปลูกส้มแก้ว การแสดงหนังใหญ่ วัฒนธรรมจุ๊เมิญของชาวมอญ เป็นต้น และอาจปลุกพลังให้ผู้เข้าชมงานลุกขึ้นมาเป็นอีกแรงที่จะดูแลภาคตะวันตก ดูแลบ้านเกิด ร่วมไปกับพวกเขา
สำหรับรูปแบบของมหกรรมฯ ครั้งนี้อยู่ภายใต้ธีมงาน "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" โดยแบ่งโครงการของเด็กและเยาวชน ออกเป็น 5 ประเด็นการเรียนรู้ ได้แก่ กลุ่มอาสาสมัคร ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น้ำตาลมะพร้าว และการจัดการน้ำ ซึ่งแต่ละซุ้มก็มีกิจกรรมให้ร่วมมากมาย ทั้งชม ชิม ช็ป เล่นเกมส์ ซึ่งทำให้การเรียนรู้กลายเป็นเรื่องสนุก
อย่างกลุ่มประเด็นน้ำตาลมะพร้าวจะมีการเกริ่นนำโครงการที่ทำทั้งหมด ด้วยแกลลอรี่ภาพถ่ายของชีวิตคนทำน้ำตาลมะพร้าว มีการสาธิตการทำน้ำตาลมะพร้าว เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมเห็นภาพชัดเจนขึ้น ตบท้ายด้วยการชวนทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำตาลมะพร้าวให้มีมูลค่าและคุณค่าจากเรื่องราวในท้องถิ่น
อีกกลุ่มประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มประเด็นอาสาสมัคร ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของโครงการที่แตกต่างและหลากหลาย ทั้งโครงการเพิ่มมูลค่าให้ปลาอกกะแร้ โครงการพัฒนาสูตรอาหารแพะ โครงการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และโครงการจัดระเบียบตลาดนัด ทว่าโครงการเหล่านี้ก็ผูกโยงกันไว้ด้วย "หัวใจอาสา" ของกลุ่มเยาวชนที่นำความสามารถไปช่วยคนในชุมชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยภายในซุ้มกิจกรรมของพวกเขา เป็นกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมรู้ว่า การทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่เรื่องยาก ทำเท่าที่ทำได้ แต่สำคัญที่ต้องลงมือทำทันทีโดยไม่รีรอ
แป้ง-นางสาวศิริพร บุญมาก นักศึกษา ปวส.1 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี จากโครงการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองโบสถ์ บอกถึงประโยชน์ที่ตัวเองได้รับจากการเข้าร่วมโครงการว่า
"เราได้รับประสบการณ์มากมายจากการทำในโครงการ เมื่อก่อนแค่ต้องการเรียนให้จบเพื่อไปทำงานเท่านั้น แต่พอได้เข้าร่วมโครงการนี้ ได้เรียนรู้ชุมชนท้องถิ่น ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น สามารถทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน เกิดทักษะชีวิต และจัดการตนเองได้ดีขึ้น ทั้งการเรียน การช่วยเหลือเพื่อนในวิทยาลัย รู้จักการทำงานเป็นทีม และมีความเป็นผู้นำ นอกจากช่วยผู้สูงอายุดูแลสุขภาพยังสะท้อนมาสู่สำนึกการดูแลสุขภาพของเรา เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงในอนาคต และตั้งใจว่าจะร่วมสร้างสำนึกพลเมืองแก่เพื่อนๆ และคนในชุมชนต่อไป"
ด้านครูเร-เรณู หนูวัฒนา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ที่ปรึกษาโครงการของแป้ง เล่าว่า ช่วงแรกที่ทำโครงการ เธอไม่มั่นใจนักว่า เด็กๆ จะสามารถทำได้ แต่ก็ตัดสินใจลองปล่อยให้ลงมือทำ โดยตัวเองแค่คอยกระตุ้นและมอบคำแนะนำ เพราะเชื่อมั่นในกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือทำผ่านโครงการในชุมชนของโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ในที่สุดความกังวลของครูเรก็ถูกแทนที่ด้วยความภาคภูมิใจ เมื่อลูกศิษย์สามารถดำเนินโครงการมาถึงปลายทาง เกิดความกล้าคิด กล้าทำ ทำเป็น และถ่ายทอดสู่สาธารชนได้ในงานมหกรรมครั้งนี้
ผลสำเร็จของงานมหกรรมพลังเด็กและเยาวชนได้สร้างกระแสการรู้จักและรักษาภูมิปัญญาภาคตะวันตกในหมู่ประชาชนทั่วไป และที่สำคัญที่สุดคือ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ต่างเห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่าน Community Project และเริ่มสนใจที่จะเข้ามาร่วมเป็นภาคีสนับสนุน โดยนายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และประธานในพิธี กล่าวว่า
"การนำผลงานของน้องๆ เยาวชนจากจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด คือ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และสมุทรสงคราม ที่ลงมือทำร่วมกับชุมชนจนเกิดรูปธรรมการเปลี่ยนแปลง และทำให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงความสำคัญของช่วยเหลือสังคม ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประเพณี การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้สะท้อนถึงพลังพลเมืองที่เกิดขึ้นในตัวคนรุ่นใหม่ ผมจึงคิดว่า โครงการนี้ดำเนินงานมาถูกทางแล้ว และถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญที่ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรม"
จากพลังเล็กๆ ของเด็กและเยาวชนที่ได้รับโอกาสให้ลงมือทำสิ่งที่สนใจ ภายใต้เงื่อนไขการสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม จนเกิดการพัฒนาทักษะและความสามารถ และปลุกสำนึกพลเมืองภายในให้พร้อมลงมือทำสิ่งดีเพื่อสังคมโดยไม่รีรอ สู่งานมหกรรมเพื่อส่งต่อพลังแก่คนอื่นๆ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับด้วยดี เกิดเป็นแรงใจให้พวกเขาอยากทำโครงการดีๆ ต่อไป คำถามสำคัญนับจากนี้สำหรับเหล่าผู้ใหญ่ในหลายภาคส่วนคือ จะทำอย่างไรให้ความเปลี่ยนแปลงของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้คงอยู่อย่างยั่งยืน รวมทั้งจุดแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่อื่นๆ ลุกมาสิ่งดีๆ เพื่อส่วนรวมด้วย เพื่อปูพื้นฐานแก่พวกเขาที่จะเติบโตขึ้นมาเป็น "คนไทย 4.0" นั่นเอง