กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--เอบีเอ็ม
กรมป่าไม้ ร่วมกับ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เดินหน้าพัฒนาป่าชุมชน จัดสัมมนาเครือข่ายกล้ายิ้มภาคเหนือ ในโครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" เพื่อมุ่งส่งเสริมเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือให้เกิดความเข้มแข็ง และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอนุรักษ์ป่าในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาป่าอย่างยั่งยืน
นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรมป่าไม้และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้ม "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางให้เกิดกระบวนการเรียนรู้การอนุรักษ์และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของป่าชุมชน และเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานป่าชุมชนระหว่าง ผู้นำป่าชุมชน นักวิชาการป่าไม้ ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานภาคเอกชน การรับฟังปัญหาและความต้องการของชุมชน ตลอดทั้งแนะนำแนวทางการแก้ปัญหาและให้การสนับสนุนแก่ป่าชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการป่าชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ และนำมาซึ่งความผูกพันและการเชื่อมโยงของเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนที่แข็งแกร่งและพัฒนาให้เป็นตัวอย่างแก่ป่าชุมชนแห่งอื่นต่อไป
การสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชน เป็นกิจกรรมที่รวมผู้นำป่าชุมชนในแต่ละภาคมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์แนวทางการพัฒนา ฟื้นฟู และบริหารจัดการป่าชุมชนและการแก้ปัญหา อาทิ ไฟป่า การบุกรุกป่า เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นเวทีในการเพิ่มพูนความรู้วิชาการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการป่าอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ได้แก่ การประเมินความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของป่า กลไกคาร์บอนเครดิตที่จะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการรักษาป่าอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์พลังงานและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานชุมชน เป็นต้น
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วยการบรรยายและกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อาทิ การพัฒนาป่าและใช้ประโยชน์ให้เกิดคุณค่าสูงสุด การจัดการป่าชุมชนตามแนวทาง COP 21 การดูแลป่าชุมชนของเครือข่ายผู้นำป่าชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากสมุนไพรไทยภายใต้เทคโนโลยีอีเอ็ม
"ความสำเร็จของการดูแลอนุรักษ์ป่าชุมชน คือ การที่คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและตระหนักในคุณค่าของป่า สามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพิงและเกื้อกูล เกิดสำนึกรักและภาคภูมิใจที่สามารถทำให้ผืนป่าที่แห้งแล้ง กลับคืนมาอุดมสมบูรณ์ได้ด้วยวิธีต่างๆ มากมาย และสิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าการพัฒนาก็คือ การรักษาให้คงอยู่ ถ้าทุกคนในชุมชนรู้จักการใช้ประโยชน์อย่างเห็นคุณค่าและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็จะทำให้ป่าไม้ของพวกเรามีความสมบูรณ์ ยั่งยืน ยาวนาน ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สมดังความหวังและความตั้งใจของพวกเรา" นางบุญทิวา กล่าว
นายเดช เชี่ยวเขตวิทย์ ประธานป่าชุมชนบ้านคลองห้วยหวาย อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ ผู้เข้าร่วมสัมมนา เล่าว่า ในการทำงานป่าชุมชนมีการทำงานเป็นกลุ่มและมีเครือข่ายช่วยเหลือในการทำงาน ในการร่วมกับโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนในวงกว้างในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ทำให้ได้แนวทางเพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานและแก้ไขปัญหาได้ การทำงานป่าชุมชนมีอุปสรรคมากมายเพราะต้องประสานกับชาวบ้าน ชุมชน หน่วยงานต่างๆ เช่น ปัญหาการเก็บของป่านอกฤดูหรือช่วงปิดป่าต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจให้ชาวบ้านเข้าใจ การบุกรุกพื้นที่ในบางครั้งก็ต้องใช้กฎกติกาและหน่วยงานภาครัฐ และที่สำคัญไฟป่าเป็นปัญหาทุกปี ป่าบ้านคลองหวายเป็นป่าเต็งรังมีไฟป่าทุกปีช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งต้องรณรงค์ป้องกันไฟป่าอย่างจริงจัง ทั้งนี้คติที่ใช้ในการดำเนินชีวิตคือ ชีวิตของข้าเพื่อป่าที่เหลือ ซึ่งพร้อมน้อมนำพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระราชินีฯ ไปใช้ในการดูแลป่า
โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน มุ่งหวังเป็นตัวเสริมให้เกิดการบูรณาการทรัพยากรของทั้งภาครัฐและเอกชนในการอนุรักษ์ป่าของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้ป่าคงอยู่อย่างยั่งยืน